วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

สามวินาที

ที่คุณลวิตร์กล่าวว่า:


คุณวิศิษฐ์มองในแง่ว่าการสื่อสารควรจะละการตัดสินระบบสัญญะที่เห็นภายนอก   แต่เราคิดว่าคงลำบากเหมือนกัน   น่าจะเรียกได้ว่าฝืนสัญชาติญาณ  เพราะการตัดสินระบบภายนอกทำให้เรา "ปลอดภัย" น่ะค่ะ


ผมเห็นอย่างนี้ครับ


หัวใจทั้งหมดของการเรียนรู้ด้วยใจอันใคร่ครวญ หรือ contemplative education ที่อาจารย์สุมนบัญญัติศัพท์ว่า จิตตปัญญาศึกษา ก็อยู่ตรงนี้เองครับ เป็นเสี้ยวส่วนที่สำคัญ เสี้ยวส่วนที่อมความ กักเก็บความหมายความสำคัญของทั้งหมดเอา หรือเป็น จุลจักรวาลในจักรวาลอันใหญ่ หรือ ในความเป็นทั้งหมดนั่นเอง หนึ่งในทั้งหมด ทั้งหมดในหนึ่ง อย่างนั้น


เราจะเรียกมันว่าอะไรดี สามวินาทีแห่งการเรียนรู้ด้วยใจอันใคร่ครวญ เราจะเรียนรู้ในระยะเวลาอันแสนสั้นอย่างนี้ได้อย่างไร? อันนี้ สำคัญมาก คือ การฝึกฝนจะช่วยให้เราหยุดเวลาได้ เหมือนกับที่นีโอ หยุดกระสุนปืนในภาพยนตร์เรื่องแมททริกซ์ เมื่อหยุดเวลาได้ การใคร่ครวญก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดการใคร่ครวญ ก็เกิดการพิจารณาเข้าไปในสัญญะ เข้าไป “ตัวแทน” และ “ภาพลักษณ์” นั้น ๆ


“ความว่าง” ในทางพุทธศาสนาก็มาดำรงอยู่ในเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน จึงว่า สามวินาทีนี้สำคัญมาก ๆ เลย


ความว่างนั้น สมเด็จองค์ทะไลลามะกล่าวไว้ว่า มันคือ “ความเป็นไปได้” ในทางควอมตัมฟิสิกส์ สิ่งของไม่มีอยู่อีกต่อไป หมายถึงสิ่งของที่ทึบตัน หรือว่า สิ่งก็คือปม หรือเครือข่ายแห่งความสัมพันธ์ อันนี้ก็มีเรื่องคลื่น เรื่องสนามเข้ามาในฟิสิกส์ และมีเรื่อง entanglement หรือ อยากจะแปลแบบลากความว่า “ต่างสอดแทรกอยู่ในกันและกัน”


สัญญะ ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างตายตัวแน่ ๆ หากมันมีชีวิตและเคลื่อนไหวไปตามกาละ เทศะ วาระโอกาส บริบท มันมีการช่วงชิงวาทะกรรม หรือการตีความใหม่ด้วย ทุกครั้งที่มีการตีความใหม่ ก็มีความเป็นไปได้ใหม่เกิดขึ้น มีโอกาสของการ “เขียนโลกใบใหม่” เกิดขึ้น


แน่นอน “สามวินาที” ก็ต้องเกิดขึ้นของมันไป แต่ว่า จะทำอะไรกับมันได้บ้างล่ะ? ทำได้ครับ คือ หยุดเวลา หรือทำให้มันช้าลง ด้วยกระบวนการของคลื่นสมอง ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์มาก ๆ เลยนะ และเราก็เข้าไปเปลี่ยนแปลง กลายร่าง แปรธาตุสัญญะ เหล่านั้นได้ อาฮา ช่างวิเศษอะไรอย่างนั้น นี่แหละคือมนตร์วิเศษของพ่อมดในศตวรรษที่ยี่สิบ


วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ซักซ้อมในจินตนาการ

จิตวิวัฒน์กับสมองส่วนหน้า


เดี๋ยวนี้ งานวิจัยสมองได้พัฒนาไปมาก เร็ว ๆ นี้ผมได้อ่านหนังสือ Evolve Your Brain: The Science of Changing Your Mind ของ Joe Dispenza หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ ที่อยู่ในทีมทำภาพยนตร์ชื่อ What the Bleep do We Know? ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับจิตใจ อย่างใหม่ หรืออย่างเป็นวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ ตอนนี้ พวกเราในเครือข่ายจิตวิวัฒน์กำลังแปลหนังสือ ชื่อเดียวกันนี้ ที่อธิบายเรื่องราวในภาพยนตร์อย่างละเอียดออกมา เพื่อเป็นเกียรติ ให้คนไทยผู้หนึ่ง ที่ทำงานด้านการนำความรู้วิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่เข้ามาในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นเรื่องเป็นราว เป็นจริงเป็นจังที่สุดท่านหนึ่ง และท่านผู้นี้ก็อยู่ในทีมผู้ก่อตั้งกลุ่มจิตวิวัฒน์ในประเทศไทยด้วย ท่านคือ คุณหมอประสาน ต่างใจ หลายคนที่อยู่ในทีมแปลนี้ ก็นับถือท่านเป็นพ่อทางจิตวิญญาณ และผมเองก็ถือว่า เป็นลูกเขยของท่าน เพราะคนใกล้ชิดของผมก็คือลูกสาวทางจิตวิญญาณคนหนึ่งของท่าน


เรื่อง Mental Rehearsal หรือการซักซ้อมทางจินตนาการนี้ อยู่ในบทที่สิบเอ็ดและสิบสองของหนังสือ Evolve Your Brain ของโจ ดีสเปนซ่า เป็นเรื่องราวการทำงานของสมองส่วนหน้า ที่ถูกคลี่คลายความรู้ความเข้าใจมาตามลำดับ สมองส่วนหน้านี้เป็นวิวัฒนาการชั้นหลังที่สุดของสมองมนุษย์ สมองส่วนหน้านี้ มีในลิงด้วย แต่พัฒนาการสูงสุดในมนุษย์ ซึ่งมีดีเอนเอต่างจากลิงเพียงสองเปอร์เซนต์เท่านั้น


สมองส่วนหน้าจะเติบโตสมบูรณ์เมื่อเราอายุครบบวช คืออายุยี่สิบ ที่ตั้งของมันคือตาที่สาม เมื่อเปิดตาที่สาม สติปัญญาของมนุษย์จึงจะสมบูรณ์ การคิดด้วยสมองส่วนหน้าจึงต่างจากการคิดด้วยสมองซีกซ้ายที่เรารู้จักกันดี และให้ความสำคัญมานาน นั่นคือ การคิดในกระบวนการของเหตุผล หรือ การคิดแบบเรขาคณิตของเปลโต้ อุดมคติของเปลโต้คงอยากจะให้โลกลงตัว ดุจเดียวกับที่เทวดาที่ทำเรขาคณิตกันเป็นงานอดิเรกบนสวรรค์ แต่ปัญญาปฏิบัติกำลังจะกลับมาพร้อมวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ และการค้นพบบทบาทที่ชัดเจนขึ้นของสมองส่วนหน้า หรือ frontal lobe แนวปรัชญาแบบอริสโตเติล และวิทยาศาสตร์ของเกอเธ จะกลับมาเด่นเป็นสง่าอีกครั้งหนึ่ง อย่างแน่นอน


สมองส่วนหน้า เติบโตหลังสุด ช้าสุด เพราะได้เชื่อมโยงสมองส่วนต่าง ๆ ชั้นต่าง ๆ (สมองมีสามชั้น คือ สมองสัตว์เลื้อยคลาน สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสมองมนุษย์ หรือลิงชั้นสูงเข้าด้วยกัน ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับการ เหมือนกับผู้กำกับการวงดนตรีออเครสต้า อย่างนั้น


โจ ดีสเปนซ่าและโจเซฟ ชิลตัน เพียซพูดไว้เหมือนกันว่า เวลาสมองส่วนหน้าทำงาน มันจะตัดขาดออกจาก การบัญชาการของสมองส่วนล่าง ๆ คือ อารมณ์ความรู้สึก และร่างกาย หรือสมองสัตว์เลื้อยคลาน สมองส่วนล่างทั้งสองนี้ ออกจะมาเป็นทรราช เมื่อเราปล่อยตัวปล่อยใจ ไปกับชีวิต และไม่ได้กุมบังเหียนชีวิตด้วยสมองส่วนหน้าอีกต่อไป ความเป็นทรราชของสมองชั้นกลางและชั้นล่างหรือชั้นในสุดนั้นเป็ฯเรื่องราวที่น่าสนใจมาก และคงอาจจะต้องเขียนเป็นอีกหนึ่งบทความออกไป โจ ดีสเปนซ่า เขียนถอดรหัส การเสพติดทั้งหลายของมนุษย์ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ในทางกลับกัน สมองส่วนหน้านี่เองจะเป็นตัวถอดสลัก การเสพติดทั้งหลายในชีวิตมนุษย์ ให้หลุดออกมาจากการย้ำทำย้ำคิดได้ ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า การซักซ้อมในจินตนาการ หรือ Mental Rehearsal


เดวิด เดวิดสัน แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาสมองกับเรื่องราวของอารมณ์ความรู้สึก อีกทั้งยังเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับสมเด็จองค์ทะไลลามะ ได้ค้นพบในงานวิจัยว่า สมองส่วนหน้ากับอมิกดาลา ทำงานอย่างเป็นปฏิภาคกัน แปลความว่า เมื่อสมองส่วนหน้าทำงาน อมิกดาลาจะหยุดทำงาน เมื่ออมิกดาลาทำงาน สมองส่วนหน้าก็จะหยุดทำงาน


อมิกดาลาในที่นี้คือการทำงานของอารมณ์ลบ ที่ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นอ้ตโนมัติ คือมันจะทำงานอย่างเป็นอัตโนมัติ โจเซฟ ชิลตัน เพียซเขียนไว้ว่า เวลาเราเข้าสู่ ความตื่นตระหนก ความกลัว หรืออาการปกป้องตนเอง เราจะถูกล็อคโดยสมองส่วนล่าง คือ ความกลัวของสมองชั้นต้น อารมณ์ลบของอมิกดาลา และความฉลาดอย่างขี้โกงของสมองซีกซ้าย แบบแคบ ๆ (คือไม่มองให้รอบด้าน แต่จะคิดเห็นเฉพาะประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น หรือ ก็คือ I in Me ในทฤษฏีตัวยู ของออตโต ชามเมอร์-หนึ่งในทีมองค์กรแห่งการเรียนรู้ของปีเตอร์ เซงเก)


ในทางกลับกัน เมื่อสมองส่วนหน้าทำงาน อมิกดาลาก็จะหยุดการทำงานคือยุติวงจรลบ ๆ ที่เป็นอัตโนมัติของตัวเอง ไปด้วยในตัว


เพื่อเติมประโยชน์ในการปฏิบัติได้ให้แก่บทความบทนี้ ที่จำกัดด้วยความสั้น ที่มันเป็นบทความหนังสือพิมพ์ (เดี๋ยวนี้เวลาเขียนหนังสือ ผมจะเขียนเป็นเล่มไปเลย ไม่ค่อยได้เขียนเป็นบทความ หรือไม่ก็เขียนเป็นบทความยาว ๆ ผมอยากพูดถึง สี่ขั้นตอนของการซักซ้อมทางจินตนาการเพื่อก่อประสบการณ์ใหม่ พฤติกรรมใหม่ หรือการสร้างโลกใบใหม่ให้กับตัวเอง


สี่ขั้นตอนนี้คือ หนึ่ง unconsciously unskilled คือบรรดาวงจรอัตโนมัติทั้งหลายที่เรามีอยู่ ขอให้สังเกตให้ดี เราจะพบว่า เราทำงานด้วยความเป็นอัตโนมัติ ระหว่าง ความคิด อารมณ์ความรู้สึก และร่างกายของเรา ทั้งหมดจะทำ คิด รู้สึกไปอย่างเป็นอัตโนมัติ ครึ่งหลับครึ่งตื่น เราไม่ได้ตื่นเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ การปฏิบัติธรรมจึงพยายามทำให้เราตื่นขึ้นมาก่อน


ขั้นตอนนี้ ผมสรุปเป็นภาษาไทยว่า “ไม่รู้ตัวว่า ไม่รู้” หรือว่า “ไม่รู้ตัวว่า ตนไม่สามารถ”


ขั้นตอนที่สอง consciously unskilled “เราก็เริ่มรู้ตัว ว่าเราไม่รู้” คือเริ่มเห็นข้อจำกัดของตัวเอง เมื่อเราผ่านเปลี่ยนจากความหลับใหลไปสู่ความตื่นรู้ เราก็เริ่มตระหนัก และมองเห็นข้อจำกัดของตัวเอง


ขั้นตอนที่สาม consciously skilled ตอนนี้เป็นตอนฝึกฝน เป็น mental rehearsal หรือการซักซ้อมทางจินตนาการ พร้อม ๆ ไปกับการปฏิบัติจริงในสนามจริง ไม่ว่าอะไรก็ตาม จะเป็นการฝึกการเล่นสกี หรือเล่นเปียโน หรือเปลี่ยนวงสวิงกอล์ฟ หรือ ฝึกการตื่นรู้เพื่อออกจากพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อสร้างพฤติกรรมใหม่ก็ตาม มันต้องตื่นรู้ทุกขณะจิต เพื่อตระหนัก และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ สร้างวงจรสมองอย่างใหม่ขึ้นมา เกอเธว่า มันเป็นการสร้างอวัยวะแห่งการรับรู้ใหม่ ขึ้นมาเพื่อจะเรียนเรื่องใหม่ มิฉะนั้น ก็ไม่อาจเข้าใจ เข้าถึงเรื่องใหม่ที่ว่านั้นได้


ขั้นตอนที่สี่ unconsciously skilled เมื่อฝึกขั้นตอนที่สามไปเรื่อย ๆ อย่างตั้งอกตั้งใจ และตื่นรู้ รู้ตัวตลอด จิตตื่นโพลง ทำซ้ำ ๆ ๆ ๆ จนกระทั่ง มันค่อย ๆ ประสาน ความคิด อารมณ์ และร่างกาย ร่างกายของเราก็จะเริ่มจดจำได้ อย่างเป็นอัตโนมัติ จนกระทั่งเราทำสิ่งนั้นได้โดยไม่ต้องคิด อย่างเช่นการปรับเปลี่ยนเกียร์รถแบบแมนนวล โดยที่เราไม่ต้องคิดเลย เป็นธรรมชาติ หรือเล่นสกีไปได้อย่างไม่ต้องคิดเลย เป็นธรรมชาติ มีจิตตื่นรู้อย่างไม่ต้องคิดเลย เหมือนกับสุซุกิ ไดเซต ไตตาโร ใช้คำว่าunconsciously conscious หรือ consciously unsconscious เราก็เริ่มปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันได้ตลอดเวลา


เขียนมาถึงตอนนี้ ผมว่า ถ้าจะทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง อาจจะต้องเขียนลงสักสามสี่ตอนกระมังแต่อย่างไรเสีย ของดี ก็น่าจะให้ได้ชิมลางเสียก่อนจะดีกว่าไม่ได้สัมผัสเสียเลยนะครับ


วิศิษฐ์ วังวิญญู



วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

การจัดประเภทคน?

ผมไปรู้จัก blog หนึ่งของคนเขียนหนังสือชื่อลวิตร์ เธอเขียนเรื่องแปลก ๆ ดี เห็นว่าเชื่อมโยงกับเรื่องสมองของเรา หรือเปล่า? ก็เลยลองเอามาเชื่อมโยงกันดู เธอเขียนว่า


“ที่จริงแล้ว ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ในการติดต่อระหว่าง
บุคคล เราจะใช้เวลาประมาณสามวินาทีแรก รวบรวมข้อมูลเกี่ยว
กับบุคคลที่เราติดต่อด้วย ในสามวินาที เราจะจัดเขาเข้า "ประเภท"
ที่เราคิดว่าเขาควรจะเป็น มันอาจจะเป็นประเภทอย่างหยาบ ๆ เพราะ
ยังไม่มีข้อมูลมาก แต่ถ้ามีโอกาสได้รู้จักไปเรื่อย ๆ ข้อมูลจะละเอียด
ขึ้น และมีความชัดเจนขึ้น”

“ทำไมเราถึงต้องจัดคนเข้าประเภท”

“ก็เพราะเราเรียนรู้มาตั้งแต่เล็กว่า การติดต่อสื่อสารกับคน "แต่ละ
แบบ" นั้นต้องใช้กลวิธี "ที่แตกต่างกัน" ดังนั้นเพื่อให้เกิดการติด
ต่อสื่อสารที่ "ถูกต้อง" เราจึงค่อย ๆ รวบรวมข้อมูลชนิดของบุค
คล แล้วบันทึกวิธีการโต้ตอบที่ถูก”

“เราจะพบว่าวิธีการที่เราคุยกับคนแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน แม้ว่าตัว
เราจะยังเป็นตัวเรา แต่คำที่ใช้ มุขที่ใช้ น้ำเสียงที่ใช้ ไม่เหมือน
กัน จำนวนก็คนที่คุย สภาพแวดล้อมที่คุย ทุกอย่างล้วนแต่เสริม
เข้าไปในรูปแบบการสื่อสารอันซับซ้อนของมนุษย์ทั้งนั้น และถึง
แม้จะทำไปโดยไม่รู้ตัว แต่ที่จริงแล้วมันก็เป็นระบบที่เกิดจากการ
คาดเดาฝ่ายตรงข้ามและประมวลสภาพแวดล้อมแท้ ๆ ทีเดียว”

“ดังนั้นสามวินาทีแรกที่เห็นหน้า เราจึงต้องตัดสินใจว่าจะจัดคนคน
นี้เข้าประเภทไหน เพื่อจะได้สร้างรูปแบบการโต้ตอบที่ถูกต้อง อย่าง
ไรก็ตาม ไม่แน่ว่าประเภทที่จัดจะถูกเสมอไป อย่างเช่นเราเห็นคน
หน้าคล้ายเพื่อนเรา เราอาจจะนึกว่าไอ้นี่นิสัยเหมือนเพื่อนฉันแน่ ๆ
แต่บ่อยครั้งจะพบว่าไม่ใช่”

“ถึงแม้ว่าเราจะไม่พอใจที่คนอื่น ๆ มาจัดประเภทเรา ไม่ชอบให้ใคร
คิดว่าฉันเหมือนคนนั้นคนนี้ เพราะฉันเป็นฉันต่างหาก แต่สิ่งเหล่า
นี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ พอถึงตัวเราเอง เราก็จะทำเหมือนกัน
การรู้จักคนต้องใช้เวลา”

ผมเคยคุยกับเพื่อนฝรั่งคนหนึ่ง ชื่อโจ แฮริส บอกเขาว่า การจัดประเภทหรือ categorization นั้นเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง ที่มนุษย์กระทำต่อกัน และกระทำต่อเรื่องราวต่าง ๆ โจสนใจเรื่องนี้มาก เรื่องนี้ มันอาจเชื่อมโยงกับเรื่อง การรับรู้ในพุทธศาสนาได้ โดยเฉพาะอภิธรรมของฝ่ายมหายาน เขาพูดถึง ตัวแทน และภาพลักษณ์ ตัวแทนหมายถึงการระบุให้สิ่งต่าง ๆ เป็นอะไร เช่่น ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ เป็นต้น ภาพลักษณ์คือคุณลักษณะของตัวแทนนั้น ๆ ดังที่เราเคยบอกว่า พวกฝ่ายซ้ายจะมีห้ายอเป็น ผมก็จำไม่ได้หมด เช่น กางเกงยีน สะพายย่าม รองเท้ายาง เป็นต้น ไปเติมกันให้ครบเอาเองนะครับ

สิ่งที่เรียนรู้เพ่ิมเติมจากลวิตร์ (ที่จริงเธอไปอ่านเจอแล้วมาเล่าต่ออีกทีหนึ่ง) ก็คือ มันใช้เวลาสามวินาที สำหรับการจัดประเภทเช่่นนี้ เราจะได้ภาพลักษณ์ตัวแทนออกมาเลย ไม่ว่า เราจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม เราก็จะจัดประเภทคนที่เราพบเจอ ทันทีทันใด อย่างเป็นอัตโนมััติ อย่างที่เราไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวด้วยซ้ำ ผมว่า อันนี้ มันเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการทำงานของสมองที่น่าสนใจยิ่ง หากเราไม่เข้าใจอันนี้ แล้วเราจะห้อยแขวนการตัดสินได้อย่างไร เราบอกว่า ในสุนทรียสนทนา เราต้องห้อยแขวนการตัดสิน เมื่อเรากำลังฟังผู้อื่น แล้วถ้าสามวินาทีของการจัดประเภทนี้ทำงาน ทีนี้ เราจะห้อยแขวนการตัดสินได้ละหรือ?

ผมขอถามเป็นคำถามไว้ก่อน กระบวนการหาความรู้แบบของเรามันต้องเริ่มต้นด้วยคำถาม ใช่ไหม?


ตอบปุ๊ก ขยายความหนังสือ "โรงเรียนพ่อแม่"

เรียนพี่ใหญ่ สวัสดีค่ะ

 

นี่คือที่ดึงออกมา 3-4 ประเด็น และอยากให้พี่ใหญ่เขียนเพิ่มให้จนจบกระบวนความในเรื่องนั้นค่ะ เพราะมันจะได้สมบูรณ์ในตัวของมันเอง [ณ ตอนนั้น ก็ยังดี]  เพราะในเนื้อหามันจะขาด แล้วก็จบห้วน ไว้แค่นั้น จนอ่านไม่เข้าใจและค้างคา แม้ปุ๊กพยายามจะหาที่อื่นมาต่อเพื่อให้มันสมบูรณ์ โดย search จากใน       เวบที่กล่าวถึงตามวาระต่าง แต่ก็หาที่ต่อกันเนียน ไม่ได้เลย สุดท้าย เลยต้องรบกวนพี่ใหญ่ค่ะ

 

แล้วแต่พี่ใหญ่จะเห็นสมควร หรือพิจารณานะคะ เกรงใจมาก ค่ะ

 

 

เรื่องที่ ๑

 

การหล่อเลี้ยงสภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็ก

วิศิษฐ์ : ในหนังสือ Magical Parent, Magical Child ของเพียซและเมนติสซ่า กล่าวโดยสรุปแล้วเนื้อหาหลักๆ ทั้งเล่มจะพูดถึงอยู่เรื่องเดียวที่สำคัญมาก นั่นคือ สภาวะที่เด็กจะสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุด หรือ Optimum learning state

             ผมมานั่งอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้งแบบที่ไปสอนให้คนอื่นอ่าน คือเปิดหน้าแบบผ่าน ๆ แล้วดูว่าอยากอ่านหน้าไหน ก็อ่าน
ก็มาเจอหน้าที่พูดถึงเกี่ยวกับ Motivation หรือแรงขับ ที่พวกเขาแบ่งออกเป็นสองอย่าง คือแรงขับภายนอกกับแรงขับภายใน พวกเขาพูดถึงแรงขับดันที่จะทำให้เด็กเรียนรู้สองอย่าง สองประเภทนี้ว่าแตกต่างกันอย่างกับฟ้ากับดิน แรงขับดันที่มาจากข้างนอก จะมาจากพ่อแม่หรือสังคมก็ตาม ลึก ๆ แล้วแฝงฝังอยู่ด้วย “ความกลัว” ความกลัวว่าลูกจะไม่ดี สู้เขาไม่ได้ ก็ใช้ “รางวัลและการลงโทษ” ในการขับเคลื่อนลูก สองนักเขียนนี้ บอกเราว่า แม้การให้รางวัล หรือการที่เด็กคนหนึ่งได้รับรางวัล แท้ที่จริงก็มีการข่มขู่อยู่เบื้องหลังนั่นเอง คือรางวัลเป็นเครื่องยืนยันถึงการมีอยู่ของการลงโทษ หรือโอกาสที่เป็นไปได้ที่เด็กคนนั้นจะถูกลงโทษเมื่อทำอะไรไม่ได้ดี


ผลเสียของแรงขับดันภายนอกอีกประการหนึ่ง ผมอยากจะเพิ่มไว้ตรงนี้ ในความคิด และการค้นคว้าของผมเองว่า มันเป็นเคลื่อนย้ายการกำกับทิศทางของตัวเอง ของเด็ก ไปสู่การมอบบังเหียนให้พวงมาลัย ไปให้คนอื่น อาจจะเป็นพ่อแม่ ครู หรือใครก็ตาม เขาหรือเธอจะเลิกฟังเสียงภายในของตัวเอง ทำให้บางทีเสียงของตัวเองก็หายไป คงไว้แต่เสียงของผู้อื่นและเสียงของสังคม เสียงของตัวเองจะไปพร้อมกับแรงบันดาลใจ หรือ เจตจำนง ซึ่งเป็นแรงขับดันสำคัญในการสร้างวินัย ที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตและการงาน

 

สำหรับแรงขับภายในนั้น มันจะเกิดขึ้นเมื่อ เราฟังเสียงของตัวเอง เมื่อพ่อแม่ ครูและผู้ใหญ่อื่น ๆ ได้ให้พื้นที่ ที่ปลอดภัย ให้เด็ก ๆ ได้กำกับทิศทางการเรียนรู้ของตัวเอง หัดให้ได้ฟังเสียงของตัวเอง เด็กก็จะเริ่มสัมผัสกับโลกภายในของเขา พื้นที่ปลอดภัย ที่จะให้เขาทำอะไรด้วยตัวเอง ทุกครั้งที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ตัดสินเรื่องราวในชีวิต ในการงานของพวกเขาเอง นั่นคือการเรียนรู้อันยิ่งใหญ่ทุก ๆ ครั้งไป เราค่อย ๆ เปิดพื้นที่ให้เขา แล้วจะเห็นความสวยงามว่า ที่จริงเขาสามารถตัดสินได้ในหลากหลายเร่ืองราว ได้มากกว่าที่เราคิด และได้ดีกว่าที่เราคิดด้วยซ้ำไป

 

เมื่อมีพื้นที่ปลอดภัยเช่นนี้ เมื่อเด็กได้เป็นองค์กรจัดการตัวเองเช่นนี้ พวกเขาก็จะเข้าไปอยู่ในโหมดปกติ และในความเป็นโหมดปกตินั้น เมื่อเขาสนใจอะไรมาก ๆ พลังชีวิตของเขาก็ขับเคลื่อนให้เขาไปอยู่ในสภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด หรือ Optimum Learning State นั้นเอง

 

......................(ส่วนแรงขับดันภายใน............จะเขียนต่อไหมคะ...........)

 

 

 

 

 

[และจริง อยากให้บอกเลยด้วยค่ะว่า   Optimum learning state
ที่พี่ใหญ่สรุปออกมาได้ทั้งหมดนั้น น่าจะอยู่ในสภาะวะใด
ได้อีกบ้างค่ะ]

 

 

 

 

**********************************

เรื่องที่ ๒ Bonding และ attachment

 

แฟนของลูก

ครูณา  :  คุณแม่ท่านหนึ่งไม่สบายใจ เนื่องจากลูกสาวของตนพึ่งเรียนอยู่ชั้น ม.๓  แต่กำลังมีแฟน และแม่เป็นห่วงมากเพราะคิดว่ายังไม่ถึงเวลา และเกรงว่าจะทำอะไรเกินเลยไป  หลังๆ เริ่มจับได้ว่าโกหกว่าไปเรียนพิเศษ แต่แม่คิดว่าไม่ได้ไป  หลังจากเล่าเสร็จ ก็มีท่านหนึ่งเล่าต่อให้ฟังว่า สมัยที่ลูกเขามีแฟน เขารู้สึกว่า เขาจะต้องใกล้ชิดลูกให้มากที่สุดและต้องยอมทำสิ่งที่ลูกขอบ้าง  บางวันลูกขอให้พาไปส่งที่อุทัย เพื่อไปหาแฟน เขาก็พาไป แล้วนั่งรอ ตอนหลังลูกก็ไม่มีอะไร พอเห็นแม่ไว้ใจ เขาก็กล้าเปิดเผยเล่าให้ฟัง  ณาคิดว่าเห็นด้วยนะ  ความรักของวัยรุ่นแบบ puppy love มันค่อนข้างสั่นไหวรุนแรง  การห้ามอาจจะเป็นการผลักไสลูกออกไปจากตัวเราก็ได้  แล้วเขาก็ยิ่งปิดบัง สุดท้ายก็โกหกมากขึ้น  พ่อแม่คงต้องกระโดดเข้าไปสนุกกับเขา ฟังเขาเล่าเรื่องแฟน  หรือชวนกันมากินข้าว จะได้รู้จักอีกฝ่ายได้มากขึ้น  หรือคิดว่าอย่างไรกันบ้างคะ

 

วญ :  ผมกำลังอ่าน To Magical Teen ของเพียซ และเพิ่งได้หนังสือมาอีกเล่มจากคุณสมพล ชื่อ Evolve Your Brain โดย Joe Dispenza คนนี้อยู่ในทีมทำหนังเรื่อง What the bleep do we know!?

ผมกำลังหาความแตกต่างระหว่าง Bonding กับ Attachment 

 

อันแรก Bonding  มันเป็นปัจจัยเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับเด็กๆ แต่อันหลัง มันเกิดจากความพร่องทางจิต จิตวิทยา ที่ทำให้นำพาไปสู่ชีวิตที่เสพติด บริโภคนิยม วัตถุนิยมแบบแข่งขันที่รุนแรง ผมเห็นว่า ใน Evolve Your Brain ก็มีเรื่องคล้ายคลึงกันอยู่ ..............(พี่ใหญ่จะเขียนต่อไหมคะ  เพราะคิดว่าน่าสนใจมากค่ะ ....... โดยถ้ามันเกี่ยวกันกับเรื่องแฟนด้วย ปุ๊กก็ว่าจะเอาไว้ตรงนี้เลย  แต่ถ้าอาจไม่เกี่ยวกัน เป็นเรื่องอื่นไปเลย ปุ๊กจะย้ายไปขึ้นเป็นหัวข้อย่อยใหม่ ให้เลยค่ะ  หรือพี่ใหญ่ว่าอย่างไร)................................

 

[พอดีเห็นพี่ใหญ่แปลอันนี้เข้ามาด้วย เลยดึงมาไว้ให้ค่ะ แต่ถ้าพี่ใหญ่จะเขียนใหม่ให้มันเป็นเรื่องเดียวกัน พี่ใหญ่เขียนใหม่เป็นภาษาของพี่ใหญ่เอง ให้มันง่าย หน่อยได้ไหมคะ เพราะอันนี้ไม่เข้าใจแน่นอนค่ะ]

 

ความผูกพันหรือการติดแจ

จาก From Magical Child to Magical Teen โจเซฟ ชิลตัน เพียซ หน้า 26-27

“การเรียนรู้เป็นกระบวนการเคลื่อนย้ายจากที่ ๆ เรารู้ไปสู่ที่ ๆ เราไม่รู้ บุคคลที่ได้รับการพันผูกหรือ Bonding เอาไว้ จะทำการเคลื่อนย้ายเช่นนั้นเกิดขึ้นได้ ก็เพราะว่า เขาสามารถดำรงอยู่ในโลกแห่งความสัมพันธ์ ที่ไม่ใช่โลกทางกายภาพ หากแต่การดำรงอยู่เช่นนั้น เป็นการขีดเส้นใต้ไว้ให้แก่โลกทางกายภาพ อยู่ตลอดเวลา(ด้วยความเข้าใจในแบบแผนแห่งความสัมพันธ์อันนั้น)”

 ขยายความทีละตอนอย่างนี้นะครับ เพราะทั้งเพียซและเมนดิสซ่าเขียนไว้ดีมาก หากกระชับและสั้นไปหน่อย ภาษาก็ยากนิดหนึ่ง จำต้องขยายความนะครับ


บีเขาได้ถอดบันทึกเสียงที่เราพูดคุยกันเรื่องนี้ไว้ ผมกล่าวว่า


“เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ จะเรียนรู้อย่างแท้จริงได้ เราต้องกลับไปหาฐานเดิมของตัวเองที่มีอยู่ ทุนเดิมของตัวเองที่มีอยู่ เราจะเรียนรู้ได้จะเปลี่ยนแปลงได้ ต้องกลับไปหาฐานเดิม ทุนเดิมที่มีอยู่ ที่บีพูดเรื่อง 30% ของเด็กพิเศษ แต่คนอื่นเค้าไปเน้นที่ 70% เธอทำอันนี้ไม่ได้ อันนี้แย่ อันนี้ไม่ได้เรื่อง บีกลับไปหา 30% ที่เค้าทำได้ กลับไปหาทุนเดิมของเค้า แล้วตรงนี้เสียงของเค้าเองปรากฏ ทีนี้ เค้าเริ่มมั่นใจ เค้าเริ่มเห็นว่าตัวเองทำอันนั้นได้ อันนี้ได้ ทันทีที่เค้ามั่นใจเนี่ย optimum learning state ก็ปรากฏแล้ว” 

อันนี้ขยายความท่อนแรก ส่วนท่องที่สองก็สำคัญและยากมากด้วย


“จะทำการเคลื่อนย้ายเช่นนั้นเกิดขึ้นได้ ก็เพราะว่า เขาสามารถดำรงอยู่ในโลกแห่งความสัมพันธ์”


คือการเคลื่อนย้ายจากท่ี ๆ รู้ ไปสู่ที่ ๆ ไม่รู้ นั้น อาศัยการมองเห็นความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์เป็นคำหลัก คำหลักที่ทำให้การเคลื่อนย้ายอันนั้นเป็นไปได้ การเคลื่อนย้ายอันนี้ คือหัวใจของการเรียนรู้ที่แท้จริงทั้งหมด การเรียนรู้ที่แท้จริงทั้งหมด เกิดขึ้นตรงนี้เอง เกิดขึ้นผ่านกระบวนการนี้เอง คือกระบวนการแห่งความสัมพันธ์ 


และที่พวกเขากล่าวว่า

“จะทำการเคลื่อนย้ายเช่นนั้นเกิดขึ้นได้ ก็เพราะว่า เขาสามารถดำรงอยู่ในโลกแห่งความสัมพันธ์ ที่ไม่ใช่โลกทางกายภาพ หากแต่การดำรงอยู่เช่นนั้น เป็นการขีดเส้นใต้ไว้ให้แก่โลกทางกายภาพ อยู่ตลอดเวลา(ด้วยความเข้าใจในแบบแผนแห่งความสัมพันธ์อันนั้น)”


มันหมายความว่า ความสัมพันธ์นั้น กระบวนการแห่งความสัมพันธ์ การได้เรียนรู้จักกระบวนการแห่งความสัมพันธ์นั้น มันมาช่วยให้ความกระจ่าง ช่วยตีความให้กับสิ่งท่ีเกิดขึ้นทางกายภาพ คือเอาง่าย ๆ หากเราเห็นสิ่งเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา เห็นพฤติกรรมของผู้คน หากเราไม่มีแบบแผนแห่งความสัมพันธ์อยู่ในโลกภายในของเรา พฤติกรรมเหล่านั้นล้วนปราศจากความหมาย เราไม่อาจเข้าใจมันได้


และกระบวนการแห่งความสัมพันธ์นั้นมันวิเศษกว่าที่เราคิด ที่เราเข้าใจ มากมายมหาศาล เรา take it for granted คือมันอยู่กับเรามา แต่เราเป็นเด็กน้อยที่ไม่รู้ความ มันเลยคล้ายกับว่า เป็นของตาย take it for granted นี่แปลว่า “เป็นของตาย” อย่างไรก็ได้ อย่างไรก็มี จนไม่เห็นคุณค่าของมัน 


ทีนี้เราจะถามว่า มันวิเศษอย่างไรนะ วิเศษมากขนาดนั้นเลยหรือ? หากไม่มีกระบวนการเช่นนี้ ปัญญาอันวิเศษยิ่งในมนุษย์จะก่อเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มันก็เลยต้องมีคุณสมบัติอันนี้ขึ้นมาในตัวมนุษย์อย่างไรเล่า


ผมชอบคำว่า ความสัมพันธ์ที่ขีดเส้นใต้ ประสบการณ์ทางกายภาพอยู่ หากไม่มี ความสัมพันธ์ที่ขีดเส้นใต้อยู่ เราก็จะไม่อาจเข้าใจอะไรได้เลย ความสัมพันธ์ เป็นการประมาลผลในสมองชั้นกลางก่อน แล้วเข้ามาในสมองซีกขวา สมองชั้นกลางคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กายภาพนั้นมาจากสมองชั้นต้น ต้องเอามาประมวลผลอย่างละเอียดขึ้นอีกหนึ่งชั้น เพ่ิมคุณภาพขึ้นอีกหนึ่งชั้น อันนี้คือความแตกต่างระหว่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่แตกต่างออกมาจากสัตว์เลื้อยคลาน ที่มีแต่สมองชั้นต้น ถ้าเทีียบ สมองชั้นต้นเป็น Operating System คือทำงานกับการรับรู้ทางกายภาพแบบดิบ ๆ แล้วอาจจะประมวลผลมาชั้นหนึ่งแล้ว มิฉะนั้น จรเข้ก็คงแยกไม่ออกระหว่างอาหารกับสิ่งที่กินไม่ได้กระมัง แล้วในสมองชั้นกลาง มันก็ประมวลผลอย่างละเอียดเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง คือทำให้วัตถุดิบต่าง ๆ เข้ามาในแบบแผนต่าง ๆ ที่เรียกกระบวนการนี้ว่า Patterning แล้วในสมองชั้นนอกซีกขวาการประมวลผมก็ย่ิงละเอียดขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น ก้าวกระโดดทางคุณภาพมาอีกขั้นหนึ่ง อันนี้ น่าจะเป็นสัญญา หรือความจำได้หมายรู้แล้ว ในชั้นนี้


ทีนี้ความละเอียดอ่อนซับซ้อนอันนี้ มันมีสภาวะ “ไหลเลื่อน เคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลง เชื่อมโยง” มัน  Patterning and Re-patterning หรือ สร้างแบบแผน แล้วรื้อสร้างแบบแผนอยู่ตลอดเวลา ส่ิงนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างไม่รู้จบ เพราะว่า มันต้องเลื่อนไหลไปตามสภาวะความเป็นจริง ที่เป็นไตรลักษณ์คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา หรือ สภาพที่ทนความบีบคั้นให้คงที่อยู่ไม่ได้ จึงไหลเลื่อน เคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลง เชื่อมโยง ความละเอียดอ่อนของสมองมนุษย์ก็ไปได้ถึงขั้นนี้ แต่จะต้อง unblock หรือ เอาตัวขวางกั้นออก แล้วเราก็จะเข้าสู่สภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ Optimum Learning State



แต่เราไม่ได้พร้อมมาแต่เกิด เรามีฮาร์ดแวร์มา แต่ต้องมาปลุกให้ฮาร์ดแวร์นั้นทำงานได้ และต้องเชื่อมโยงซอฟต์แวร์เพิ่มเติมเข้ามา เราอาจจะมีซอฟต์แวร์บางระดับแล้ว แต่ต้องมาเชื่อมโยง ผ่าน “ความสัมพันธ์” ความสัมพันธ์อุปมาอุปไมยคล้ายเสียบปลั๊ก หรือ connected คือเชื่อมต่อ เชื่อมโยง


ในวอยซ์ไดอะล็อคจะพูดถึง energetic linkage คือการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ หรือท่อแบบแผนของพลังงานเข้าด้วยกัน แล้วมันต่อความสัมพันธ์แบบความสัมพันธ์ด้วยใจ ใจถึงใจ แล้วการถ่ายเทข้อมูลลึก ๆระหว่างคนสองคนก็เกิดขึ้น 


ตรงนี้มันไปพ้นความคิด มันไม่ได้คิด มันมาเป็นความเข้าใจบางอย่าง ส่งต่อระหว่างคนได้ แล้วมันมาเป็นต้นแบบให้เราเข้าใจเร่ืองราวต่าง ๆ ที่จะตามมา มันกลายมาเป็นพื้นฐานซอฟต์แวร์ที่จะช่วยให้เราเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ มากมายอันละเอียดอ่อนที่จะตามมา


วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2551


“หากถ้าเรายังดำรงอยู่ในสภาวะแห่งความผูกพันนี้ไซร้ เมื่อมีเหตุการณ์หนึ่งใดก็ตาม บุคคลผู้นั้น ก็จะสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นได้ โดยไม่ได้กระทำการ อย่างเป็นไปแบบเป็นเพียงปฏิกิริยา ความผูกพันทำให้สามารถไหลไปตามเหตุการณ์ได้โดยเป็นไปในระดับ precursive level หรือในระดับ ก่อนที่จะเข้าไปใช้ความคิดกับเหตุการณ์นั้น ๆ”


แล้วเพียซกับเมนดิสซ่าก็พูดดังข้อความข้างบนนี้ 


การดำรงอยู่ในความผูกพันธ์ หรือใน “ความสัมพันธ์” นี้ มันพิเศษยิ่ง มันเป็น energetic linkage หรือการเชื่อมต่อท่อแห่งแบบแผนพลังงาน มันไม่ต้องผ่านการคิด มันยังไม่ได้ผ่านการคิดด้วยซ้ำ มันเหมือนต่อท่อตรง มันเหมือนคนสองคนกลายเป็นคนเดียวกัน ดังตัวอย่างแม่อัฟริกัน ที่เอาลูกน้อยแขวนไว้กับตัว และไม่ต้องใช้ไดอะเป้อ มีฝรั่งไปถามว่า ทำไมรู้ว่า ลูกต้องการจะฉี่จะอึได้อย่างไร แม่อัฟริกันถามกลับมาว่า แล้วคุณรู้ได้อย่างไรว่า  ตัวเองจะฉี่จะอึเมื่อไร คำถามกลับนี้บอกอะไรกับ มันบอกว่า คนสองคนนี้ เป็นคน ๆ เดียวกันไปแล้ว ไม่ต้องบอกไม่ต้องสังเกตอะไรทั้งสิ้น มันรู้ขึ้นมาเอง เพราะทั้งสองต่อท่อตรงถึงกัน จะเป็นท่อก็ได้ เป็นสายก็ได้ แล้วแต่เราจะอุปมาอุปไมย 


พวกเขาทั้งสองพูดว่า  


“ความผูกพันทำให้สามารถไหลไปตามเหตุการณ์ได้โดยเป็นไปในระดับ precursive level หรือในระดับ ก่อนที่จะเข้าไปใช้ความคิดกับเหตุการณ์นั้น ๆ”


คือมันได้หล่อหลอม ไหลไปด้วยกัน ไหลไปตามเหตุการณ์ เป็นหนึ่งเดียวกับเหตุการณ์โดยไม่ต้องคิด ยังไม่ต้องคิด มันรู้สึก สัมผัสได้ ทันทีทันใด เช่นนั้นเอง


“บุคคลผู้นั้น ก็จะสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นได้ โดยไม่ได้กระทำการ อย่างเป็นไปแบบเป็นเพียงปฏิกิริยา”


อันนี้สำคัญมาก เมื่อเป็นหนึ่งเดียวกับเหตุการณ์ ปรากฏการณ์ เราก็ไม่ต้องคาดคิด ไม่ต้องกะเก็ง อย่างเช่นการเก็งกำไรอะไรอย่างนั้น และการตอบสนองหรือโต้ตอบ ก็จะไม่เป็นปฏิกิริยา คำว่า โต้ตอบอย่างเป็นปฏิกิริยานั้น หมายความว่า มันเป็น reactionary คือมันไม่ได้ตอบเรื่องราวอย่างเพียงพอ แต่มันเป็นอาการทางจิตวิทยา ในความหมายที่ว่า เราตอบโต้อะไรบางอย่าง หนึ่ง อย่างเป็นอัตโนมัติ และสอง อย่าง ออกไปจากจุดบอดทางจิตใจของเรา ไม่ได้มาจากปัญญาที่แท้จริง และสาม เมื่อเป็นเช่นนี้ มันก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาแต่อย่างใด


ตรงกันข้าม เม่ือเราต่อท่อตรงได้ ใน “ความสัมพันธ์” ใน “เยื่อใยแห่งความผูกพัน” ด้วยความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย และมีพื้นที่เป็นของตัวเอง ไม่ได้ฝืนหรือจำยอมในความสัมพันธ์นั้น ๆ เราจะมีอิสระ เราจะมีความตื่นรู้ เราจะตอบสนองต่อเรื่องราว เหตุการณ์ ปรากฏการณ์ได้อย่างเผชิญหน้า ได้อย่างไม่กลัว ไม่มีความวิปลาสในจิต หรือก็คือ ไม่มีจุดบอด จิตของเราเปรียบประดุจกระจกใส ส่องกระทบเรื่องราวต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา จิตจึงเกิดปัญญา ปัญญาที่จะตอบต่อเรื่องราวได้พอดี ๆ ตรงประเด็น ตรงวาระ ไม่ผิดเพี้ยน ตรงต่อเวลา เหมาะเหม็งพอดี ๆ 


เพียซและเมนดิสซ่าได้พูดต่อไปว่า

“แต่สำหรับ attached person หรือคนที่ติดแจ จะวิเคราะห์เหตุการณ์ก่อนล่วงหน้า คาดคำนวณผลที่อาจจะเกิดขึ้น (อาศัยความคิดคาดคำนวณ-ผู้แปล) พยายามจะเข้าไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในความเลื่อนไหล เพื่อจะเข้าไปปรับเปลี่ยนมัน เพื่อให้เกิดผลที่น่าพึงพอใจกว่า ด้วยอาการของคนติดแจแบบนี้ มันจะเป็นการเข้าไป เมื่อได้วิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้ว หรือเข้าไปหลังจากได้รับข้อเท็จจริง ซึ่งก็คือการเข้าไปวุ่นวาย ด้วยความพยายามของความคิด จึงเป็นการก่อกวน (สายธารแห่งเหตุการณ์-ผู้แปล) และมักจะสายเกินไปที่จะไปแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และในเวลาเดียวกัน ก็เท่ากับเป็นการเข้าไปขวางสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป คนที่ติดแจคน พยายามจะรวบสิ่งที่ไม่รู้ให้กลับมาเป็นสิ่งที่ล่วงรู้ให้ได้ พยายามจะบีบคั้นประสบการณ์ ให้เข้ามาอยู่ในกรอบแข็งของข้ออ้างอิง ที่มั่นคงและมีเสถียรภาพทั้งหลาย”


มันเหมือนกับการใช้เครื่องมือไม่ถูกกับการงาน ลึกที่สุดของการจะหยั่งเข้าไปในเหตุการณ์และล่วงรู้ อย่างทันท่วงที สามารถเข้าไปกระทำการได้อย่าง พอเหมาะพอดีกับจังหวะของกาลเวลาและเรื่องราว วาระ ประเด็น ย่อมต้องการการรับรู้เรียนรู้อีกแบบ อาศัยซอฟต์แวร์อีกตัว ตรงนี้ นักคิดค้นทั้งสองพูดต่อว่า 



“ซึ่งหมายถึงสิ่งที่สัมผัสได้ทางกาย อันเป็นรูปธรรม สิ่งที่ขีดเส้นใต้อยู่ของเหตุการณ์ และธรรมชาติที่เป็นเนื้อแท้ของเหตุการณ์ ก็คือแบบแผนแห่งความสัมพันธ์ กล่าวได้ว่า มันอยู่ในรูปของคลื่นมากกว่าอนุภาค เป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรม”

เครื่องมือที่ถูกต้องเหมาะสมกับงาน ก็คือ “ความสัมพันธ์” คือ “Bonding” นั้นเอง ความคิดวิเคราะห์ ตรรกะ เป็นเครื่องมือของสมองซีกซ้าย ในส่วนของปริมณฑลแห่งการ “รู้แล้ว” เป็นความคิดที่ตายแล้ว ไม่มีชีวิตชีวา แต่ในความสัมพันธ์ เป็นอะไรที่มีชีวิต เป็นอะไรที่สลับซับซ้อน เป็นคณิตศาสตร์เชิงซ้อน หรือ Complex Mathematics ไม่ใช่คณิตศาสตร์แบบเรขาคณิต เป็น Fractal Mathematics ของระบบไร้ระเบียบ ที่มีระเบียบในความเป็นองค์กรจัดการตัวเองของสิ่งมีชีวิต ซึ่ง เป็นระดับลึกขององค์กรจัดการตัวเองของจักรวาลเช่นเดียวกัน มันจึงอ่านความเป็นไปของโลกได้ อ่านความเป็นไปของระบบชีวิตอื่นได้ อ่านวาระของผู้คนได้ อย่างพอดิบพอดี ทั้งวาระและกาละ มันจึงเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับโลกและผู้คนได้อย่างสามารถตอบสนอง ตอบต่อวาระของผู้คนและโลกได้จริง ๆ ไม่ใช่การคาดการที่ผิดพลาด บิดเบี้ยว ไม่ลงตัว ไม่ถูกกาละเทศะ อย่างที่กระบวนการคิดของสมองซีกซ้าย ในส่วนของความรู้และความคิด ที่ตายแล้ว พยายามจะลำเลียงออกมา 


ความรู้และความคิดที่ตายแล้ว มีที่ทางการทำงานของมัน เมื่อเรามีสิ่งที่รู้แล้ว เราสามารถเปรียบเทียบได้ว่า อะไรที่ยังไม่รู้ และส่วนที่ยังไม่รู้จะได้รับการตอบสนองด้วยการทำงานของสมองส่วนอื่น ๆ ทั้งหมด ที่ร่วมกันแสวงหาคำตอบ แต่เมื่อเราเอาความคิดและความรู้ ประเภท “รู้แล้ว” “ตายแล้ว” มาใช้ไม่ถูกที่ เราย่อมจะพบกับความผิดหวัง เมื่อผิดหวัง โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ เราก็ยิ่งจะพยายามไขว่คว้า แต่ด้วยวิถีเก่าที่ล้มเหลว ทำให้เราโหยหิว “ความสัมพันธ์” ที่เราไม่มีมา เราเกิดอาการติดแจ หรือพยายามยึด พยายามเหน่ียวรั้งความสัมพันธ์ที่ไม่มีอยู่จริง หิวโหย แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง คาดการแต่ไม่ได้สามารถก่อผลที่ต้องการได้ เป็นความทุกข์ในนรกนิรันดร์อย่างไม่อาจจะหาความสุขใดมาดับกระหายได้ นอกจากจะค้นพบทาง เข้าสู่ “ความสัมพันธ์” นั้นอีกครั้งหนึ่ง




 คนที่ติดแจ ไม่สามารถ หรือที่จริง ได้ประสบความล้มเหลวไปแล้ว ที่จะหลอมรวมเอาแบบแผนแห่งความสัมพันธ์นี้ เข้ามาในการตีความโลก หรือมองโลกของเขา อันนี้จึง ทำให้การเรียนรู้เป็นไปได้ยาก”

 


สภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด Optimum Learning State

26/4/2551

สนทนาเรื่องสมอง ครั้งที่ ๑

บี: บทที่ ๑ ที่บีแปลใน Evolve your brain เค้าก็พูดถึง evolution ของมนุษย์และสัตว์แต่ละ species เค้าก็พูดถึงไข่ขาวไข่แดง พูดถึงพื้นที่เสี่ยง เรากล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้แค่ไหน หรือเราจะบอกตัวเองว่าเราเป็นได้แค่นี้เราจะเป็นอย่างนี้ไปตลอดชีวิตของเรา เราไม่ชอบงานที่เราทำเลย แต่เราก็ยังบ่นอย่างนี้ไปอีก ๑๐ ปี แต่ทำไมเราไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เค้าก็จะพูดถึงว่าเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์ ทำไมมนุษย์ยัง happy กับ ความ unhappy อยู่ เค้าบอกว่ามันเป็นวงจรสมองอย่างหนึ่งเป็น emotional addicted อย่างหนึ่ง เป็นการติดอยู่ในอารมณ์อย่างหนึ่ง แต่จริงๆ คำถามที่บีตั้งก็คือว่าตกลงมนุษย์เรียนรู้ในภาวะเสี่ยงภัย หรือภาวะที่ตัวเองมีความสุข 

อาใหญ่: ประเด็นเรื่องนี้น่าสนใจ

บี: เค้าบอกว่าสัตว์นี่มันจะเรียนรู้และ evolution ในสภาวะที่เป็น harsh environment ใช่มั๊ยคะ คือต้องอยู่ในสภาพแบบสถานการณ์บีบบังคับหรือ force หรือเปล่า? หรืออะไรที่ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนตัวเองกันแน่ เป็นตอนที่เรามีความสุข หรือความทุกข์อยู่ หรือตอนที่เรากำลังขึ้นจากตัว U ถ้าพูดถึง U-Theory ตัว U นี่อาจจะเป็นทุกข์

อาใหญ่: ตรงนี้ละเอียดอ่อนมาก ตรงที่บีพูดมาละเอียดอ่อน มันอาจจะมี สมมติฐานหลายอย่าง คืออย่างที่สัตว์ที่จะเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมที่มีความรุนแรงนี่ อาจจะไม่จริงนะ คือสิ่งหนึ่งที่มีในสัตว์ที่วิวัฒนาการ ยิ่งสูงขึ้นมาเท่าไหร่ แม้กระทั่งนกนี่ ก็เริ่มมีแล้วล่ะ สัตว์นั้นวิวัฒนาการยิ่งสูงขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีอะไรเพิ่มมากขึ้นรู้มั๊ย “การเล่น” แล้วเวลา เข้าใจว่า Dispenza พูดถึงว่า มนษย์สมัยนี้เสพติดอารมณ์เดิม ๆ ไม่ยอมเปลี่ยงแปลงนี่ น่าจะเป็นว่า สำหรับพวกเขาการเล่นได้หายไปด้วย อันนั้นก็อันหนึ่ง 


ที่นี้สมมติฐานที่สองที่อยากจะพูดก็คือ การจะออกจากความรู้แล้ว ออกจากไข่แดงไปสู่ไข่ขาว ไม่จำเป็นต้องเผชิญสถานการณ์ และไม่จำเป็นต้องไม่มีความสุข คือ คนที่พัฒนาตัวเองตลอดเวลา คนที่นำพาตัวเองไปสู่เงื่อนไข สิ่งแวดล้อม  ที่ต้องทำให้คิดใหม่ทำใหม่ตลอดเวลา อาจจะเป็นคนที่สนุก มีอารมณ์ขัน และพบว่าหนทางนั้น มันทำให้ชีวิตเค้ามีความสุข บางทีเวลาเรากลัวสุดขีดนั้น มนุษย์อาจจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย บางทีเราตกไปอยู่ในโหมดปกป้อง แต่ว่า อะไรที่มันท้าทายพอสมควร ท้าทายน้อยเกินไปก็ไม่สนุก ทำไม? มนษย์ชอบท้าทาย ทำไมวัยรุ่นต้องออกไปหาอะไรท้าทาย ๆ สุด ๆ เพราะชีวิตทุกวันนี้มันไม่มีอะไรท้าทาย มนุษย์จึงต้องการอะไรที่มันท้าทาย ทีนี้ ที่มันท้าทายพอสมควรนั้นน่ะ มันสามารถเปลี่ยนจากความกลัวมาเป็นการเรียนรู้ เปลี่ยนจากกลัวมาเป็นเสียวแทน  แล้วมนุษย์ต้องการการเสียวระดับใดระดับหนึ่งตลอดเวลาเพื่อทำให้ชีวิตมีชีวิตชีวา 

บี: มันก็คือการออกจากความเคยชินเดิมไปสู่เรื่องใหม่ 

อาใหญ่: ทีนี้มันมีสมมติฐานอีกอันหนึ่งที่มัน block การเรียนรู้ของมนุษย์ ก็คือว่า อันนี้พูดไปเพื่อนผมหลายคนจะโกรธผมนะ เพราะบางคนเป็นหนู ไม่ชอบให้ใครไปว่าอะไรใคร แต่ความเป็นจริง  คือปัญหามันอยู่ที่ระบบโรงเรียน คือคนไม่เข้าใจ และเป็นการผิดพลาดอย่างมหันต์เลย ของระบบผู้เชี่ยวชาญ ระบบผู้เชี่ยวชาญนี่อยู่ในร่มใหญ่ของระบบโรงเรียน (schooling) คนที่พูดเรื่องนี้ชัดก็คือ Ivan Illich คือคนไปคิดว่าการเรียนรู้คือระบบโรงเรียนเท่านั้น full stop จบแค่นั้น มีแค่นั้น แล้วระบบโรงเรียนโดยส่วนใหญ่ โดยเนื้อแท้ ตัวระบบนั้น มนุษย์ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของชีวิต แล้วทุกคนพอไปคิดว่าการศึกษาการเรียนรู้อยู่ในระบบโรงเรียน พอเรียนจบออกมา ก็ไม่เรียนรู้อะไรอีกเลยเพราะคิดว่าเรียนจบแล้ว ชั้นรู้แล้ว ชั้นพอแล้ว แล้วประสบการณ์การเรียนรู้ในโรงเรียน มันไม่น่าพิศวาส มันไม่มีเสน่ห์ และมันไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง อันนี้น่าเสียดายแล้วมันเป็น block ไปหมดเลย ทำให้คนไม่ได้เรียนรู้ที่แท้จริง และไม่ได้ยอมพยายามทำให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง และไปคิดว่าการเรียนรู้นี่เป็นเรื่องยากเข็ญแสนเข็น แล้วอย่าลืมนะครับว่าคนส่วนใหญ่ล้มเหลวในระบบโรงเรียน  มีคนส่วนน้อยเท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จในระบบโรงเรียน แต่ความสำเร็จนั้น ก็ยังไม่ได้สำเร็จอะไร เพราะว่า ก็อาจจะเป็นเพียงกระบวนการเรียนรู้แคบ ๆ ที่เป็นการเรียนรู้ตำรับตำราเสียมากกว่าการเรียนรู้ที่แท้จริง การก่อเกิดปัญญาที่แท้จริง มันก็สรุปออกมาว่า เป็นผลเสียทั้งสองฝ่าย ทั้งที่เรียนไม่ดี และเรียนเก่ง 


สมมติฐานแบบนี้เอง ที่ว่า การเรียนรู้มีอยู่แต่ในระบบโรงเรียนเท่านั้น มันทำให้ block การที่จะก้าวออกจากไข่แดงไปสู่ไข่ขาว การที่จะก้าวจากพรมแดนความไม่รู้ไปสู่ความรู้ ผมว่าสามอันนี้พอแล้วได้สามเรื่องใหญ่ๆ 

บี: แล้วเราไปให้ค่าความไม่รู้เป็นเรื่องไม่ดี เป็นความโง่ เขลา เบาปัญญา เราเลยยอมไม่รู้ไม่ได้ คือเราไป disowned ความไม่รู้

อาใหญ่: เราไม่ยอมรับว่าเราไม่รู้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอีกเรื่องหนึ่ง เพราะไม่มีใครรู้ทุกเรื่องในชีวิตนี้ คือเราสูญเสีย commonsense ไป commonsense นี่มีค่ามาก

บี: ซึ่งจริงๆ ระบบโรงเรียนมันใส่การ disowned ความไม่รู้ คืออย่างใน workshop ที่อาใหญ่พยายามให้คนหา optimum learning state คือพาให้คนตั้งคำถามกับตัวเองว่า คือเราให้คนทำแบบฝึกหัด ให้นึกถึงเวลาที่เราเรียนรู้ได้ดีที่สุด ผู้เข้าร่วมก็ทำกัน ผลออกมาว่า คนเราเวลาเรียนรู้จริง ๆ มันไม่ค่อยเกิดขึ้นในโรงเรียน แล้วพอมาให้ทำ worst case  คือให้ลองนึกถึงประสบการณ์ที่ทำให้เราประสบปัญหาการเรียนรู้มากที่สุด ที่เรารู้สึกแย่สุด ๆ เอ๊ะ ทำไมเกิดขึ้นในโรงเรียนหมดเลย 

อาใหญ่: คือ การไม่เรียนรู้ หรืออุปสรรคในการเรียนรู้ ผู้เข้าร่วมเล่าว่า เกิดขึ้นในโรงเรียนหมดเลย และการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ของแต่ละคนเกิดนอกโรงเรียนหมดเลย อันนี้ จะแปลว่าอะไรดีนะ? 

บี: ใช่ มันตลกมาก มันคล้ายที่ Dispenza พูดตอนต้นไงคะว่าคนเราไม่ชอบงานที่ตัวเองทำอยู่ แต่เรายังทำงานมันอยู่ เราไม่เปลี่ยนตัวเองใหม่สักที 

อาใหญ่: อันนี้ก็น่าจะได้เอาไปลงในหนังสือเป็นบทหนึ่งได้เลย ทีนี้ Dispenza พูดนี่น่าสนใจ เค้าพูดถึงว่าในมนุษย์ ร่างกายของเราจะมีระบบ homeostasis แปลว่าการกลับคงให้อยู่สภาพเดิม กลับไปอยู่ในความปกติ แต่ไม่ใช่ “ความปกติ” ในพุทธศาสนา ที่หมายความถึงศีลนะ แบบดี ๆ หรืออะไรอย่างนี้ คือ ปกติ ในพุทธศาสนานี่ มันเท่ากับ สภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด/Optimum Learning State แต่ปกติแบบนี้หรือการกลับคืนสู่สภาพเดิมแบบนี้  มันอาจจะเป็นการติดอารมณ์บางอย่าง ติดการปกป้องบางอย่าง เพราะว่ามันทำงาน สามระดับนะ มันก็อาจจะติดสามระดับ  


หนึ่ง คือการทำงานระดับความคิด ติดในระดับความคิด ก็อาจจะเป็นเทปม้วนเก่า สอง อารมณ์ อารมณ์ทำงาน โดยผ่านสมองชั้นกลาง มันจะสูบฉีด peptide ออกมา มันมีหน้าที่ผลิตและสูบฉีด peptide ออกมา ถ้าเราดูหนังเรื่อง what the bleep do we know? เนี่ย เราจะเห็นว่า peptide เป็นลูกกุญแจ ผนังเซลล์ก็จะมีแม่กุญแจ พอลูกกุญแจมันไปเสียบแม่กุญแจที่ผนังเซลล์ เซลล์ก็จะเปลียนแปลงทางชีวเคมีทันที เซลล์จะกลายร่างแปรเปลี่ยนไปทันที สมมติเราส่ง peptide โกรธออกไปแล้วไปเสียบแม่กุญแจที่ผนังเซลล์ ซึ่งเป็นแม่กุญแจแห่งความโกรธ ตูมเดียว เซลล์ทุกเซลล์ก็จะโกรธ แล้วพอเวลาโกรธ กระบวนการในร่างกายมันก็จะหลั่งเคมีบางอย่าง ทั้งฮอร์โมน จากต่อมต่าง ๆ อะไรอย่างนี้ จะหลั่งออกมา แล้วเราก็จะติดเคมีเหล่านี้ แม้ว่าเคมีเหล่านั้นจะทำลายล้างนะ เคมีตอนโกรธนี่ มันจะมี cortisol เป็นต้น ที่เป็นตัวทำลายล้าง มันกัด มันเป็นกรด มันจะกัดทำลายทุกอย่างหมดเลย  เนื้อเยื่อ อะไรต่ออะไร แต่เราติดมันนะ แล้วเราก็จะผลิตความโกรธออกมาเรื่อย ๆ เพราะถ้าหากเราไม่โกรธนี่ ชีวิตมันจะเหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง มันจะหงุดหงิด ต้องหาเรื่องโกรธ อันนี้คือ ลองดูนะ มันเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก แล้วมันจะลงระดับกาย คือ เซลล์ และเคมีนี่เป็นระดับกาย มันจะผูกพันกันมา ทีนี้เราจะทำยังไง? 

บี: แล้วเราไปสร้างวงจรนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ คืออย่างที่อาใหญ่พูดเรื่องตอนโกรธนี่ เราไปสร้างวงจรเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ การฟอร์มวงจรนี่ มันเกิดมาตั้งแต่เมื่อไหร่ 

อาใหญ่: พูดถึงดีสเปนซ่าก็คุยเรื่องนี้ แล้วผมเอาไปคุยกับนายยิ่งด้วย ดีสเปนซ่าบอกว่าเราเอามาจากพ่อแม่เราครึ่งหนึ่ง  ถ้าพ่อแม่เราเป็นคนหงุดหงิดและโกรธง่าย เราจะรับมาแล้วครึ่งหนึ่ง แล้วมันขึ้นอยู่กับว่าตอนโตเราอยู่กับใครด้วย ถ้าเรายังอยู่กับพ่อแม่เรา เราก็จะรับมาอีกครึ่งนึง คือรับมาเต็ม ๆ เลย เป็นทั้งเนื้อทั้งตัวเลย คือคนรอบตัวด้วย คนในสังคมด้วย คนใกล้ชิด ก็คือมันมาตั้งแต่เกิด แล้วก็มาจากการเลี้ยงดูด้วย การเลี้ยงลูกที่ผิดก็จะทำให้เด็กเติบโตอยู่ในร่องอารมณ์ มี สภาพทางเคมีอย่างเลวร้าย เต็มไปหมด แล้วเด็กก็จะเสพย์ติดร่องอารมณ์เหล่านี้ ร่องอารมณ์ร้ายๆ 

บี: มันจะกลับมาที่นี่ตลอดเวลาเพราะมันเป็นวงจรที่ wiring ไว้แล้ว แล้วมันก็จะกลับมาตลอดเวลา คือสมองมันจะมีการ wiring ข้อมูลแต่ละชุดไว้ แล้วก็จะมีการ pruning ทิ้ง แต่ pruning มันไม่ได้ทิ้งทั้งหมด มันยังอยู่ สมมติ ถ้ามันมีอะไรเข้ามาทำให้มันระลึกได้มันก็จะเข้าไปเสียบ ระลึกบ่อยขึ้นๆ  myelin sheath ก็จะเข้าไปเคลือบไว้เลย วงจรนี้เลยกลายเป็นวงจรใหญ่ของชีวิตไปเลย (กระบวนการไมลีเนชั่น  นั้นคือการทำให้วงจรสมองจากถนนหนทางเล็ก ๆ กลายเป็นซุปเปอร์ไฮเวย์-วิศิษฐ์)

อาใหญ่: กระบวนการ pruning หรือกระบวนการริดกิ่งเซลล์ประสาท เซลล์สมองทั้งหลายนี้ ก็คือการเข้าไปริดส่วนที่ไม่ได้ใช้งาน ทีนี้ถ้าคุณเกิดมาในครอบครัวนี้ คุณใช้อารมณ์แบบนี้ คุณก็จะไปริดศักยภาพอื่น ๆ ทิ้งไป เพราะว่า มันไม่ได้มีการใช้งาน

บี: ก็ disowned กับ primary self ช่วงต้นที่เกิดของคน ก็เป็นอันเดียวกัน มันเชื่อมโยงกับ voice dialogue ได้เลย 

อาใหญ่: ทีนี้เรื่องการสร้างวงจรสมองนี้ ต้องเข้าใจว่า ช่วงแรกที่มันเริ่มต้น มันจะเป็นทางเดินเท้าเล็ก ๆ ก่อน แล้วทางเดินมันจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทางเดินเท้า เป็นทางเกวียน เป็นทางเดินถนน เป็นทาง highway superhighway สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราก็จะถูกวงจรสมองพวกนี้ครอบครอง จริง ๆ แล้ว เราก็จะไม่มีอิสระ เราไม่สามารถเป็นอย่างที่เราอยากจะเป็นได้ แล้วความที่เราบอกว่าเรารู้แล้ว หรือว่า เราไม่ต้องการเรียนอะไรอีกแล้ว  การเรียนมันยุ่งยาก ฉันรู้แล้ว ฉันเข้าใจแล้ว คำพูดเหล่านี้มันได้ถูกติดตั้ง อย่างสถิตสถาวรเป็น superhighway แล้ว เราก็เป็นอื่นไม่ได้ เราก็เป็นได้แค่นี้ 

บี: กำลังคิดว่า สมมติว่าพ่อแม่เป็นคนสร้าง pattern ให้ลูก 50% คือมันถ่ายทอดมาทาง genetic ใช่มั๊ยคะ ทางที่ดีแล้ว เด็กก็ต้องไปเจอวงจรอื่น ๆ คือไปเจอคนอื่น ๆ บ้าง เด็กจะได้ไม่สร้าง wiring วงจรที่มันล็อคจนใหญ่โตมโหฬารเป็น superhighway แล้วทำให้เขาไม่สามารถมีทางเลือกอย่างอื่น ๆ อีก 

อาใหญ่: กลับมาที่โรงเรียนพ่อแม่ และวิถีโบราณนั้น เรากลับไป อ้อ จำพระอภัยมณีได้ไหม? ถ้าผมจำไม่ผิด พระอภัยมณีเมื่ออายุ 16 สุดสาครเมื่ออายุ 15 ก็ออกจากบ้าน 15-16 นี่สมองส่วนหน้ากำลังเติบโตนะ จะไปเติบโตสมบูรณ์ที่สุด เมื่ออายุ 25 โห มันกำลังเชื่อมโยงเลย หา model หรือต้นแบบใหม่ ที่แตกต่างไปจากพ่อแม่เลย joe dispenza บอกว่า 50% ที่ได้จากพ่อแม่น่ะพอแล้ว 15-16 นี่ออกไปได้แล้ว ผมถึงสนับสนุนให้ลูกผมไปเรียนเปียโนที่รัสเซีย สนับสนุนให้ดินไปเรียนแพทย์แผนธิเบต ที่ธรรมศาลา พวกเขาควรจะเห็นโลกกว้างออกไป ควรจะเห็น model ใหม่ ๆ อย่างอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เรา

บี: ไม่งั้นเราจะเสพย์ติดวงจรเดิม ๆ 

อาใหญ่: ใช่เราจะเสพย์ติดวงจรเดิม ๆ แล้ว อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตเด็กเขาจะต้องผ่านการเกิดใหม่ โบราณจะเรียก rite de passage คือพิธีกรรมที่เด็กจะเปลี่ยนผ่านกลายเป็นผู้ใหญ่  เด็กโดยเฉพาเด็กชนเผ่านี่พอโตขึ้นหน่อย ชนเผ่า อย่างเผ่าซูเนี่ย เค้าให้เร็วมากนะ ผมจำไม่ได้แล้วอายุเท่าไหร่ 11-12 เองมั๊ง เค้าก็ให้ออกไปร่วมล่าสัตว์กับผู้ใหญ่แล้ว เพราะฉะนั้น hero ของเขามีเต็มไปหมดเลย ไม่ได้มีแค่พ่อคนเดียว แล้วอันนี้เค้าจะเรียนจาก hero คนอื่น ๆ ด้วย

บี: เมื่อกี้ที่พูดว่า ร่างกายเราจะกลับมาที่ “คงเดิม”  เราก็อาจจะพูดไว้ก่อนว่า “คงเดิม” ที่พูดถึงอยู่นี้คืออะไร บีว่า มันก็คือส่วนที่ได้มาจากพ่อแม่ แล้วก็ตรงนี้มันต้องพยายามหา model หรือ ต้นแบบอื่น ๆ เพื่อให้วงจรสมองมันไม่ lock ไม่อยู่วงจรใดหนึ่งเดียว หากสามารถเคลื่อนย้าย มีความหลากหลายมากขึ้น 

อาใหญ่: ทีนี้อันนี้สำคัญนะ พอมันเคลื่อนย้ายอย่างขนานใหญ่แล้ว มันเกิดอะไรขึ้น 

บี: มันจำ process หรือกระบวนการของการเคลื่อนย้ายได้  

อาใหญ่: ใช่ มันจำ process หรือกระบวนการของการเคลื่อนย้ายได้ ทำให้เราสามารถสร้างวงจร “เรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ life long learning ขึ้นมาในวงจรสมองของเราได้ เราสามารถเห็นความเป็นไปได้ เราสามารถเดินทะลุกำแพง เรารู้ว่าโลกไม่ได้มีอยู่แค่นี้ เมื่อเราเรียนจากคนที่ ๑ เป็นต้นแบบ แล้วเราไปเจอคนที่ ๒ เรารู้ว่าความเป็นต้นแบบของคนที่ ๒ นี้ แตกต่างจากคนที่ ๑ แล้วเราก็จะรู้ว่าต่อไปจะมีคนที่ ๓ แล้วอีกหน่อยเราจะรู้ว่าไม่ต้องมีคนก็ได้ เราอาจจะไม่ต้องเหมือนคนที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เราอาจจะสร้างคนที่ ๔ ขึ้นมาในจินตนาการได้ หมายถึงการเติบโตของเรามัน unlimited มันไม่มีที่สิ้นสุด มันไม่มีขอบเขตข้อจำกัด

บี: ถ้าอย่างนั้นหมายถึงว่า วงจรสมองของเรามันไม่ได้จำเฉพาะตัวเนื้อองค์ความรู้ หรือcontent อย่างเดียว มันสามารถเป็นวงจรสมองของกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วย

อาใหญ่: อันนี้ผมพูดและผมเขียนด้วย อาจจะขยายความเป็นอีก chapter หนึ่ง เลยนะ คือมันจะมี ๒ อย่าง ก็คือว่า กระบวนการเรียนรู้นั้น เราจะพัฒนาอะไร เราพัฒนา process หรือ content ด้านหนึ่งก็คือเราพัฒนาตัวกระบวนการ คือเราสามารถพัฒนาตัวกระบวนการได้ด้วย สมมติว่าเราขี่จักรยาน เราจะขี่เป็น ระหว่างเรา หัดขี่จักรยาน กับเราไปอ่านเรื่องการขี่จักรยานใน encyclopedia ให้ตายคุณก็ขี่ไม่เป็น แต่เมื่อคุณขี่เป็นมันคนละเรื่อง อันนี้เป็น process คุณเรียนรู้เรื่องอะไรกันแน่ ต้องสังเกตดูนะ อย่างประวัติศาสตร์พม่านั้นมันเป็น content  เป็นเนื้อหา แต่ถ้าคุณมี process การเรียนรู้ คุณอาจเรียนรู้เรื่องเช่นเดียวกัน เช่น ประวัติศาสตร์ โปรตุเกส หรือประเทศอะไรก็ได้ เป็นต้น ดังนั้น process สำคัญมาก สำคัญกว่าเนื้อหาที่ไปเอามาด้วยซ้ำไป

บี: มันก็คล้ายกับที่อาใหญ่บอกว่า mental rehearsal นี่ถ้าทำได้เรื่องนึง เราก็จะทำได้ทุกเรื่อง 

อาใหญ่:  ใช่ เคยเขียนด้วยว่า mental rehearsal ที่เป็น process เราจะสร้าง process ให้เข้มแข็งขึ้นมาได้อย่างไร สมมติ process นึงนี่เราเจอเรื่องอะไร เราบอกว่า เรารู้แล้วเราไม่อยากรู้ เราก็จมอยู่กับ process เดิม ๆ เราไม่เรียนรู้ใหม่ แต่แล้ว พอครั้งหนึ่ง พอเราเข้าไปเราค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ คือเราได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ขึ้นามา เราค้นพบพลังชีวิตที่เพิ่มพูน เราพบความสามารถที่เพิ่มพูน พบศักยภาพใหม่ ๆ โดดลงเหวเข้าไปเรียน เข้าไปยอมยากลำบาก เข้าไปยอมฝึกฝืน เข้าไปในกระบวนการเพื่อไปเรียนรู้เรื่องใหม่ มันก็จะเติบโตในตัวเราเป็นวงจรถาวรในสมอง ที่เข้มแข็ง 

บี: อันนี้พูดกลับไปในระบบโรงเรียน อันนี้พูดไปแล้วโรงเรียนอาจจะโกรธเรา คือถ้าเราออกจากพ่อแม่แล้วไปเข้าระบบโรงเรียนนั้น มันก็จะไปเจอวงจรของ process แห่งการเรียนรู้แบบ block มาก ๆ เลย แล้วมันจะจำได้ว่ามีวิธีเดียว 

อาใหญ่: เพียซพูดด้วยถ้อยคำหนัก ๆ เลย เค้าอาจจะไม่ care ใครนะ เค้า 90 กว่าแล้ว เพียซบอกว่า กระบวนการแบบโรงเรียนนี่ เป็นกระบวนการทางสังคม ใช้คำว่า enculturation คือกระบวนการที่ครอบโดยวัฒนธรรม แล้วโรงเรียนนี่เป็นระบบเดียวกันกับระบบที่ทำให้มนุษย์หยุดวิวัฒนาการ เค้าใช้คำนี้เลย คือคำว่า devolution คือหยุดวิวัฒนาการ มันเป็นวงจรสมองแบบสามเส้า มันเป็นวงจรของร่องอารมณ์ในสมองชั้นกลาง แล้วเอาความกลัวขึ้นมาเป็นนาย อันนี้เป็นสมองสัตว์เลื้อยคลาน คือเอาตัวรอดขึ้นมาเป็นนาย เอาร่องอารมณ์ขึ้นมาเป็นนาย แล้วสมองซีกซ้ายที่เป็นเทปม้วนเก่า คิดวนไปวนมา อันนี้ สมองสามส่วน สามเส้า ซึ่งทำให้มนุษย์หยุดวิวัฒนาการ 

บี: ก็มันก็หยุดแล้ว มันเอามาจากบ้าน 50% แล้ว แล้วไปเจอระบบโรงเรียนที่เป็น block การเรียนรู้ มันมีแค่ 2 อัน ก็ lock เลย นึกว่ามีแค่นี้ เพราะมีวิธีการเรียนรู้วิธีเดียวเท่านั้น เพราะไปอยู่ที่นั่นนานเลย 12 +4 นี่ โห block เลย แล้วยิ่งเรียนมากยิ่งเป็น ยิ่งหยุดเลย คือถ้าพูดในแง่ของสมองนี่คือมันจบแล้ว คือคุณเป็นไปได้แค่นี้จริง ๆ คือเป็นได้แค่ 2 วงจร คือ บ้าน กับโรงเรียน เป็นอย่างอื่นไม่ได้อีกแล้ว คนไม่กล้าออกมาจากวงจรของระบบโรงเรียน คนไม่กล้า คือเต็มไปด้วยความกลัวและร่องอารมณ์

อาใหญ่: ลองมาคิดดูซิว่า ทำไมงานกระบวนการเราจึงประสบความสำเร็จในทุก ๆ ที่ ๆ  ไปทำ ก็เพราะว่า เท่าที่เราไปเจอมา ผู้เข้าร่วมเขารู้สึกว่า ชีวิตการงานที่เป็นอยู่ทั้งหมดนี้มันเป็นทางตัน แต่พอคุณเห็นแสงเล็ก ๆ ของความหวัง คือเริ่มสัมผัสกับกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่าง คุณเริ่มเห็นความแตกต่าง มีความเป็นไปได้ว่าจะทำอะไรที่แตกต่าง เริ่มเห็นว่าการเรียนรู้ มันเป็นไปได้มันสนุก มีเสน่ห์ เป็นไปได้ ที่เดิม คนที่ปฏิเสธการเรียนรู้ทั้งชีวิต จะกลับมาเรียน ฉันอยากเรียน เรียนมันสนุก ท้าทาย มีอะไรให้เรียนอีกมากมาย อันนี้มันมหาศาล

บี: เอาไว้ chapter แรก คนจะได้อ่านด้วยใจที่เปิด 

อาใหญ่: ดี ไว้บทนำก็ได้ 

บี: จริงๆ น่าจะเชื่อมโยง voice dialogue ด้วยนะคะ

อาใหญ่: ดีเราจะเชื่อมโยง voice dialogue ด้วยนะ 2-3 บท แต่ยังไม่ต้อง the whole thing เอาแบบย่นย่อ 

บี: แต่วิธีนี้มันเห็นชัดเลย บีว่าเป็นเรื่องเดียวกัน pruning ของสมองคือ disowned นี่เอง แล้วก็ primary self คือ wiring ที่สถิตสถาพรไปแล้ว ทีนี้เราไปหยิบ ไปย้ำ วงจรเดียว มันก็ lock เอาแค่วงจรเดียวออกมา aware ego ไม่มีโอกาสเกิด เพราะมันเป็นอัตโนมัติแบบหลับใหล มันทำแบบนี้ทุกเรื่อง คิดแบบนี้ทุกเรื่อง เราก็จะเห็นผู้เข้าร่วมที่มาในกระบวนการแล้ว จะมาเอาอะไรสักอย่างหนึ่ง แบบเดิม ๆ แล้วไม่เห็นว่าเราจะให้อะไรกับพวกเขาได้ในแบบเดิม ๆ   สมมติว่าไปที่ตัวอาใหญ่เอง ที่ตอนอายุ 19 อาใหญ่ออกมาจาก pattern ที่บ้าน คือเดินออกมาจากบ้าน ออกมาจาก genetically wired หรือ ที่สมองสร้างวงจรตามที่พันธุกรรมกำหนดไว้  จริงๆ การจะเชื่อมโยงองค์ความรู้เนี่ย ก็ต้องออกจากระบบโรงเรียน 

อาใหญ่: จริง ๆ อันนี้เป็นความรู้ที่ลึกที่สุดเลยนะ ผมอ่าน ปัญญาญาณแห่งการอภัย ที่วิกเตอร์ ชาน คนจีนคนหนึ่งเขียนสัมภาษณ์ องค์ทะไลลามะ ท่านพูดเลยนะว่ามีอยู่ ๒ เรื่อง คือการ การุณยจิต และปัญญาที่จะมองเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง สองอันนี้จบแล้ว ปัญญาที่จะเห็นความเชื่อมโยงแห่งสรรพสิ่ง มันจะเห็นเลยว่าทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมดจะเห็นเลยว่าอะไรเชื่อมโยงกับอะไร อย่างไร

บี: คุยกันเรื่องคำว่าระบบโรงเรียนนิดนึง อยากคุยเรื่องการนิยามคำศัพท์นิดนึง ระบบโรงเรียนนี่มันไม่ได้พูดถึงการเข้าไปเรียนในโรงเรียน แต่มันพูดถึงวิธีคิดของคนใช่มั๊ยคะ

อาใหญ่: ผมว่า อิลลิชเขียนไว้ชัดที่สุด อิลลิชเชื่อมโยงว่า ระบบโรงเรียนมาจากศาสนจักร อิลลิชเป็นนักบวชในคริสต์ศาสนาแต่ถูกอัปเปหิออกมาจากศาสนจักรโรมันคาทอลิค อิลลิชเป็นคนที่ฉลาดมาก เรียนรู้ลึกมาก คือศาสนจักรต้องการผูกขาดการเข้าถึงพระเจ้า เข้าใจมั๊ย คุณจะเข้าถึงพระเจ้าไม่ได้ ถ้าคุณไม่ผ่านนักบวช คือพระสงฆ์ของทางเขา คุณจะเข้าถึงความรู้ไม่ได้ถ้าไม่ผ่านครู คุณผ่านเรื่องสุขภาพไม่ได้ถ้าไม่ผ่านหมอ นี่คือที่มาของระบบโรงเรียนในโลกตะวันตก จริงๆ มนุษย์เรียนรู้เองได้ จริงๆ มันมีความเคลื่อนไหวว่าควรดูแลสุขภาพด้วยตนเอง คือหมอก็รู้มากแหละ แต่เราก็รู้ได้ด้วย และเราต้องรับผิดชอบที่จะรู้ และดูแลตัวเองด้วย คือกลับมาเรียนรู้ด้วยตนเองด้วย

บี: ซึ่งการไปผูกติดกับครูนี่ ก็อาจจะเป็นหายนะ เพราะเราไม่สามารถกระทำอะไรกับครูได้ คือเรากลายเป็นฝ่ายถูกกระทำ คือบีเห็นชัดจากประสบการณ์ที่บีผ่านมาในการทำงานในระบบโรงเรียน ที่เราจัดการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับครูไม่ได้

อาใหญ่: ทีนี้ก็ต้องมาดูครูในกระบวนทัศน์ใหม่ ว่าเป็นยังไง ไม่ใช่ไม่เอาครู ครูไม่ดี แต่ครูในระบบโรงเรียนคือครูผู้รู้ทุกอย่าง ครูผู้ป้อนข้อมูลให้นักเรียน ครูผู้ตัดสินถูกผิดให้นักเรียน แต่ครูในความหมายใหม่นี่ ไม่รู้ก็ได้ เรียนไปกับนักเรียนก็ได้ เป็น coach ก็ได้ ทีนี้ครูในความหมายใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่นี่ก็จะเกิด สถานที่การเรียนรู้มีได้มั๊ย คนเขาอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าเราต้องการจะล้มทุกอย่าง แต่จริง ๆ สถานเรียนรู้มีได้มั๊ย มีได้ แต่สถานเรียนรู้เป็นยังไง คุณจะต่างจากระบบโรงเรียนที่รับมาจากโลกตะวันตกได้ยังไง จะเท่าทันมันได้มั๊ย  อันนี้ ท้าทายและน่าคิดค้นมาก ๆ

บี: จริง ๆ ระบบทั้งโลกนี้มันเกิดขึ้นมาจากระบบโรงเรียน เพราะคนที่มาอยู่ในระบบก็มาจากโรงเรียน แล้วก็มาสร้างระบบต่าง ๆให้เกิดขึ้นเป็น pattern เดียวกันหมดเลย เป็นศาสนจักรแบบที่อาใหญ่ว่า จะเข้าถึงเรื่องนี้ได้ต้องผ่านคนนี้ หมอเท่านั้นที่ชี้ถูกผิดอาการของคนไข้

อาใหญ่: สมัยใหม่นี่ มันถูกผูกติดกับคำว่า expertise ถ้ายังมีคำนี้ก็ยังมี ระบบโรงเรียนก็จะยังอยู่ เป็นอำนาจอย่างหนึ่ง เป็นการผูกขาดอย่างนึง เป็นศาสนจักรแห่งการครอบงำอย่างหนึ่ง 

บี: ซึ่งระบบโรงเรียนเนี่ยมันรับ generalist ไม่ได้ใช่มั๊ยคะ ซึ่งจริงแล้ว generalist นี่สำคัญมากเลย 

อาใหญ่: อาจารย์ประเวศ นี่เป็นคนหนึ่งที่พยายาทำเรื่องนี้ เรื่อง generalist แต่มีคนอย่างหมอประเวศน้อยไปหน่อย ต้องมีเยอะขึ้น

บี: นึกถึงที่ตัวเองเรียนมาบริหารธุรกิจ มันจะแยกหมดเลยเป็น finance การตลาด บัญชี จบออกไปแล้วสร้างธุรกิจเองไม่ได้ ต้องเข้าไปทำงานในบริษัทอย่างเดียว 

อาใหญ่: อาจจะถึงเวลาแล้วกระมัง ที่เราต้องคืนอำนาจให้ตัวเอง คือกระบวนการเรียนรู้ให้กลับมาเป็นของเราเอง


วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ฐานกาย หรือสมองชั้นต้น ด่านแรกแห่งการเปลี่ยนแปลง

ฐานกาย หรือสมองชั้นต้น ด่านแรกแห่งการเปลี่ยนแปลง

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๑

ผมเคยพูดถึงขาไปขากลับของการเดินทาง เปรียบได้กับการเรียนรู้ในชีวิตมนุษย์เหมือนกัน เมื่อเราเป็นเด็ก เราจะเดินทางขาไป เมื่อเราเริ่มเข้าวัยกลางคน เราจะรู้สึกว่า เรารู้จักโลกนี้ดีแล้ว เราผ่านฝนมาหลายฤดูกาล ชีวิตขากลับของเราจึงเริ่มน่าเบื่อหน่าย เรารู้แล้ว รู้ไปหมด ชีวิตหมดความตื่นเต้นอีกต่อไป เราลืมวันคืนที่เคยเป็นเด็กไปเสียสิ้น

แต่ขาไป (ไม่ใช่ขากลับ) ของการเรียนรู้นั้น เป็นการตื่นตัวกับการรับรู้โลกซึ่งสำคัญมาก มิฉะนั้น จะกลายเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล สัญญา (Perception) เก่าจะเข้ามาครอบ ทำให้เราถูกตรึงติด หรือกักขังอยู่ใน the known หรือที่รู้อยู่แล้ว/ที่รู้แล้ว 

สัญญา/ Perception เมื่อการรับรู้ผ่านสมองชั้นต้นมาแล้ว จะก่อตัวในสมองชั้นกลาง และสมองซีกขวา ถ้าจะรับรู้แบบใหม่ ไม่เหมือนเดิม จะมี “สัญญาใหม่” ได้ไหม มีความเป็นไปได้แต่อาจจะยากกว่า เช่น พวกชนเผ่าพื้นเมือง ในทวีปอเมริกา เห็นเรือสำเภาเป็นครั้งแรก ก็ไม่สามารถมองเห็นอะไรเลย! คือเห็น แต่ไม่รับรู้ ต้องไปเอาพ่อมดหมอผีมา พวกนี้ถูกฝึกให้เฝ้ามองอะไรต่ออะไร อย่างเนิ่นนาน และไม่ยอมให้จมจ่อมอยู่กับอะไรที่รู้แล้ว! ในที่สุดพ่อมดหมอผีก็ “มองเห็น” พอพ่อมดหมอผีมองเห็น ชาวบ้านก็มองเห็น!

ถ้าเป็นอย่างนั้น การที่เรามองไม่เห็นแล้วจะเอาเรื่องมาคิดใคร่ครวญต่อได้อย่างไร มันทำไม่ได้!

อีกมิติหนึ่ง ของสมองชั้นต้น หรือตันเถียนล่าง ก็คือการดูแลกลไกทั้งหมด มันคือ “การดำรงอยู่” (being) ของชีวิต กลไก ประสาทที่ทำงานเป็นอัตโนมัติทั้งหมด ที่ทำให้หัวใจของเราเต้นได้ โดยเราไม่ต้องคอยสั่งการ เป็นการดำรงอยู่อย่างเป็นอัตโนมัติเสียส่วนใหญ่ มันโปรแกรมด้วยพันธุกรรมของบรรพบุรุษเสียครึ่งหนึ่งแล้ว อีกครึ่งหนึ่ง มันมาเรียนรู้จากผู้คน สังคมที่อยู่รอบตัว 

แต่ถ้าโลกแคบอยู่แคบๆ กับพ่อแม่ตัวเอง ไม่มีต้นแบบ หรือ role models อื่นๆ ให้เห็น อันนี้ก็น่าเศร้าใจยิ่งนัก 

มีตัวอย่าง สิ่งที่มาจากบรรพบุรุษเข้ามามีอิทธิพลกับเราอย่างไร ลูกชายของผมซึ่งเรียนอยู่ชั้นปีที่สองของวิทยาลัยดนตรีในประเทศรัสเซียได้เขียนเล่าไว้ในวงน้ำชา (wongnamcha.com) ความว่า:

“ตอนนี้เพิ่งจะรู้สึกว่าจัดเวลาได้ลงตัวไม่เครียดเกินไป แต่มันก็เกือบจะจบปีการศึกษาเสียแล้ว บางครั้งสิ่งที่เราต้องทำมันก็ไม่ได้เยอะแยะขนาดนั้น ปัญหาอยู่ตรงที่ความรู้สึกที่เรามีต่อมันมากกว่า ถ้าอะไรที่เราไม่อยากทำถึงแม้มันจะน้อยนิดเท่าขี้แมงหวี่เหมือนก็เหมือนช่างเยอะแยะเหลือเกิน แต่หลายครั้งเรา ก็ใช่ว่าจะเลือกได้เสมอไป ว่าเราอยากทำหรือไม่อยากทำ จริงๆ ก็เลือกได้นะแต่เราก็คงต้องเลือกด้วยคะแนนที่น้อยหรือการตกวิชานั้นๆ ไป ถามว่าเราสนใจคะแนนไหมเราก็สนนะ เราก็เลยยอมแลกด้วยการทำสิ่งที่เราไม่ชอบเท่าไหร่ในบางครั้ง

ทางเลือกมีเสมอ เราก็คงต้องเลือกอะไรในระดับที่เราพอใจ ทางเลือกอาจจะไม่ได้มีแต่ทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป

แต่เราก็คงต้องเลือกระดับที่เรารู้สึกว่าพอดีๆ หรือว่าพอไหว ฝึกฝนการจัดเวลาของตัวเองพยายามไม่ดองงานไว้นานๆ ค่อยๆ ทำไปทีละนิดแล้วงานมันจะดูไม่เยอะเกินไป

นอกจากเรื่องจัดการกับเวลาคงจะเป็นเรื่องการจัดการกับความเครียด วันเสาร์คุยกับครอบครัวที่รัสเซีย ว่าเรามีแนวโน้มจะเป็นคนที่เครียดถึงเครียดมาก เรื่องแบบนี้มันสืบทอดกันได้ เราน่าจะตัดหรือลดมันในรุ่นของเรา ถ้าเราทำได้ ลูกหลานเราจะได้สบายขึ้น ผมคิดว่าการที่พ่อเริ่มทำงานกับตัวเองอย่างจริงจัง มันก็ช่วยให้ผมทำงานกับตัวเองได้ง่ายขึ้น มันเชื่อมโยงกันอย่างที่เราไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า 
บางครั้งเราเครียดโดยไม่รู้ตัว ความกังวลมันเหมือนจะอยู่ในอากาศ ตื่นเช้ามาแทนที่จะสดใสกับอากาศยามเช้า เราอาจกังวลว่า วันนี้ไปเรียนจะมีปัญหาไหมนะ ทั้งๆ ที่เรื่องเรียนเราก็แทบจะไม่มีปัญหาเอาซะเลย เราเครียดเกินกว่าเหตุ บางครั้งความเครียดอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของเรา แต่มันอาจจะอยู่ที่ตัวเรามากกว่า คนบางคนที่ดูเหมือนว่า จะมีปัญหาชีวิตมากมาย แต่เขากลับไม่เครียดเท่าไหร่ ต่างจากบางคนที่เหมือนจะไม่ค่อยมีปัญหาอะไรแต่ก็เครียดมาก”

ในฐานล่างนี้ การดำรงอยู่เชื่อมโยงกับอารมณ์ โดยผ่านทางเคมีในสมองคือจะมีการหลั่งสารเป็บไทด์ (Peptide) เข้าสู่กระแสเลือดไปยังทุกส่วนของร่างกาย ในเซลล์แต่ละเซลล์จะมีที่รองรับเป็บไทด์ เหมือนมีแม่กุญแจนั่งอยู่ เป็บไทด์ตัวหนึ่ง ก็เป็นอารมณ์หนึ่ง เป็บไทด์เป็นลูกกุญแจ เมื่อลูกกุญแจเสียบเข้าล็อคพอดีกับแม่กุญแจในแต่ละเซลล์ เซลล์ก็รับสัญญาณของอารมณ์ และแสดงออกซึ่งอารมณ์ต่างๆ เช่น โกรธ เกลียด อิจฉา ริษยา อารมณ์รัก อารมณ์เซ็กส์ซี่ เป็นต้น

ร่างกายของเราจะคุ้นกับแบบแผนของอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง และจะไม่ยอมพรากจากแบบของอารมณ์นั้นๆ ไปได้ง่ายๆ สามีภรรยาบางคู่อยู่ด้วยกันไม่มีความสุขเท่าไร ทะเลาะกันตลอดเวลา แต่มันก็เคยชินกับลูกกุญแจและแม่กุญแจอย่างนั้นเสียแล้ว คุ้นเคยกับสารเคมีที่เคยหลั่งประจำอยู่แล้ว แม้จะทำลายล้างร่างกายอย่างไรก็ติดเสียแล้ว มันเคยปกติของมันอย่างนั้น จะแปรเปลี่ยนไปอย่างไรได้ เวลาพรากจากกันก็ร้องห่มร้องไห้ ไม่เป็นผู้เป็นคนเอาเสียเลย

อันนี้จะเห็นเลยว่า ฐานกาย คือเซลล์ แบบแผนพลัง (Energy pattern) ในเซลล์มาสัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร และอารมณ์ความรู้สึกก็ไปสัมพันธ์กับความคิดด้วย มันแยกกันไม่ออก คือทุกความคิดจะมีอารมณ์กำกับอยู่ด้วยเสมอ เพราะฉะนั้น ความคิด อารมณ์ความรู้สึก และร่างกาย จะสัมพันธ์กัน หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน มากกว่าที่เราจะคิดถึงและเข้าใจได้ 

ความคิดเก่าๆ ก็จะนำมาซึ่งอารมณ์เก่าๆ และแบบแผนความเป็นไปในร่างกายแบบเก่าๆ เป็นสมดุลเฉพาะ หรือเป็น “ปกติ” เฉพาะตัวใครตัวมัน ซึ่งปกตินั้น อาจจะหมายความถึงแบบแผนที่เพาะเลี้ยงอาการป่วยไข้บางอย่างบางประการก็ได้ จะเห็นได้เลยว่า ความคิด ความรู้สึก ก็อาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ ตราบใดที่ไม่เปลี่ยนวิถีชีวิต โรคภัยนั้น รักษาอย่างไร ก็ไม่หาย

อีกอย่างหนึ่ง ความคิดกับอารมณ์ก็มีทางปฏิสัมพันธ์กัน เช่นเมื่อคิดอย่างนี้ก็รู้สึกอย่างนี้ รู้สึกอย่างนี้ ก็จะมีอาการทางกายอย่างนี้ เช่น เครียดแล้วก็จะเกร็งที่ไหล่เป็นต้น หรือ เมื่อวิตกกังวลก็จะเจ็บที่กระเพาะอาหาร เป็นต้น

เพราะฉะนั้น โจทย์หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ท่านให้พวกเราตื่นรู้ รู้ตัว รู้เท่าทัน อาการทางกาย กายมันสังเกตได้ง่ายกว่าจิต มันเป็นอุบายให้หาทางคลี่คลาย ให้เราออกจาก ลูกกุญแจ แม่กุญแจเดิมๆ หรืออาการพันธนาการแบบเดิมๆ ที่ชีวิตเราเป็นเช่นนั้นเรื่อยมา แต่ตอนนี้เราอยากออกจากความเคยชินนั้น ออกมาแล้ว เราจึงเริ่มถามหาหนทางเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้Sunday, May 04, 2008Posted by knoom at 3:00 AM 0 commentsLabels: วิศิษฐ์ วังวิญญู
ป้ายกำกับ: