วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

สามวินาที

ที่คุณลวิตร์กล่าวว่า:


คุณวิศิษฐ์มองในแง่ว่าการสื่อสารควรจะละการตัดสินระบบสัญญะที่เห็นภายนอก   แต่เราคิดว่าคงลำบากเหมือนกัน   น่าจะเรียกได้ว่าฝืนสัญชาติญาณ  เพราะการตัดสินระบบภายนอกทำให้เรา "ปลอดภัย" น่ะค่ะ


ผมเห็นอย่างนี้ครับ


หัวใจทั้งหมดของการเรียนรู้ด้วยใจอันใคร่ครวญ หรือ contemplative education ที่อาจารย์สุมนบัญญัติศัพท์ว่า จิตตปัญญาศึกษา ก็อยู่ตรงนี้เองครับ เป็นเสี้ยวส่วนที่สำคัญ เสี้ยวส่วนที่อมความ กักเก็บความหมายความสำคัญของทั้งหมดเอา หรือเป็น จุลจักรวาลในจักรวาลอันใหญ่ หรือ ในความเป็นทั้งหมดนั่นเอง หนึ่งในทั้งหมด ทั้งหมดในหนึ่ง อย่างนั้น


เราจะเรียกมันว่าอะไรดี สามวินาทีแห่งการเรียนรู้ด้วยใจอันใคร่ครวญ เราจะเรียนรู้ในระยะเวลาอันแสนสั้นอย่างนี้ได้อย่างไร? อันนี้ สำคัญมาก คือ การฝึกฝนจะช่วยให้เราหยุดเวลาได้ เหมือนกับที่นีโอ หยุดกระสุนปืนในภาพยนตร์เรื่องแมททริกซ์ เมื่อหยุดเวลาได้ การใคร่ครวญก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดการใคร่ครวญ ก็เกิดการพิจารณาเข้าไปในสัญญะ เข้าไป “ตัวแทน” และ “ภาพลักษณ์” นั้น ๆ


“ความว่าง” ในทางพุทธศาสนาก็มาดำรงอยู่ในเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน จึงว่า สามวินาทีนี้สำคัญมาก ๆ เลย


ความว่างนั้น สมเด็จองค์ทะไลลามะกล่าวไว้ว่า มันคือ “ความเป็นไปได้” ในทางควอมตัมฟิสิกส์ สิ่งของไม่มีอยู่อีกต่อไป หมายถึงสิ่งของที่ทึบตัน หรือว่า สิ่งก็คือปม หรือเครือข่ายแห่งความสัมพันธ์ อันนี้ก็มีเรื่องคลื่น เรื่องสนามเข้ามาในฟิสิกส์ และมีเรื่อง entanglement หรือ อยากจะแปลแบบลากความว่า “ต่างสอดแทรกอยู่ในกันและกัน”


สัญญะ ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างตายตัวแน่ ๆ หากมันมีชีวิตและเคลื่อนไหวไปตามกาละ เทศะ วาระโอกาส บริบท มันมีการช่วงชิงวาทะกรรม หรือการตีความใหม่ด้วย ทุกครั้งที่มีการตีความใหม่ ก็มีความเป็นไปได้ใหม่เกิดขึ้น มีโอกาสของการ “เขียนโลกใบใหม่” เกิดขึ้น


แน่นอน “สามวินาที” ก็ต้องเกิดขึ้นของมันไป แต่ว่า จะทำอะไรกับมันได้บ้างล่ะ? ทำได้ครับ คือ หยุดเวลา หรือทำให้มันช้าลง ด้วยกระบวนการของคลื่นสมอง ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์มาก ๆ เลยนะ และเราก็เข้าไปเปลี่ยนแปลง กลายร่าง แปรธาตุสัญญะ เหล่านั้นได้ อาฮา ช่างวิเศษอะไรอย่างนั้น นี่แหละคือมนตร์วิเศษของพ่อมดในศตวรรษที่ยี่สิบ