วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

การจัดประเภทคน?

ผมไปรู้จัก blog หนึ่งของคนเขียนหนังสือชื่อลวิตร์ เธอเขียนเรื่องแปลก ๆ ดี เห็นว่าเชื่อมโยงกับเรื่องสมองของเรา หรือเปล่า? ก็เลยลองเอามาเชื่อมโยงกันดู เธอเขียนว่า


“ที่จริงแล้ว ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ในการติดต่อระหว่าง
บุคคล เราจะใช้เวลาประมาณสามวินาทีแรก รวบรวมข้อมูลเกี่ยว
กับบุคคลที่เราติดต่อด้วย ในสามวินาที เราจะจัดเขาเข้า "ประเภท"
ที่เราคิดว่าเขาควรจะเป็น มันอาจจะเป็นประเภทอย่างหยาบ ๆ เพราะ
ยังไม่มีข้อมูลมาก แต่ถ้ามีโอกาสได้รู้จักไปเรื่อย ๆ ข้อมูลจะละเอียด
ขึ้น และมีความชัดเจนขึ้น”

“ทำไมเราถึงต้องจัดคนเข้าประเภท”

“ก็เพราะเราเรียนรู้มาตั้งแต่เล็กว่า การติดต่อสื่อสารกับคน "แต่ละ
แบบ" นั้นต้องใช้กลวิธี "ที่แตกต่างกัน" ดังนั้นเพื่อให้เกิดการติด
ต่อสื่อสารที่ "ถูกต้อง" เราจึงค่อย ๆ รวบรวมข้อมูลชนิดของบุค
คล แล้วบันทึกวิธีการโต้ตอบที่ถูก”

“เราจะพบว่าวิธีการที่เราคุยกับคนแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน แม้ว่าตัว
เราจะยังเป็นตัวเรา แต่คำที่ใช้ มุขที่ใช้ น้ำเสียงที่ใช้ ไม่เหมือน
กัน จำนวนก็คนที่คุย สภาพแวดล้อมที่คุย ทุกอย่างล้วนแต่เสริม
เข้าไปในรูปแบบการสื่อสารอันซับซ้อนของมนุษย์ทั้งนั้น และถึง
แม้จะทำไปโดยไม่รู้ตัว แต่ที่จริงแล้วมันก็เป็นระบบที่เกิดจากการ
คาดเดาฝ่ายตรงข้ามและประมวลสภาพแวดล้อมแท้ ๆ ทีเดียว”

“ดังนั้นสามวินาทีแรกที่เห็นหน้า เราจึงต้องตัดสินใจว่าจะจัดคนคน
นี้เข้าประเภทไหน เพื่อจะได้สร้างรูปแบบการโต้ตอบที่ถูกต้อง อย่าง
ไรก็ตาม ไม่แน่ว่าประเภทที่จัดจะถูกเสมอไป อย่างเช่นเราเห็นคน
หน้าคล้ายเพื่อนเรา เราอาจจะนึกว่าไอ้นี่นิสัยเหมือนเพื่อนฉันแน่ ๆ
แต่บ่อยครั้งจะพบว่าไม่ใช่”

“ถึงแม้ว่าเราจะไม่พอใจที่คนอื่น ๆ มาจัดประเภทเรา ไม่ชอบให้ใคร
คิดว่าฉันเหมือนคนนั้นคนนี้ เพราะฉันเป็นฉันต่างหาก แต่สิ่งเหล่า
นี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ พอถึงตัวเราเอง เราก็จะทำเหมือนกัน
การรู้จักคนต้องใช้เวลา”

ผมเคยคุยกับเพื่อนฝรั่งคนหนึ่ง ชื่อโจ แฮริส บอกเขาว่า การจัดประเภทหรือ categorization นั้นเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง ที่มนุษย์กระทำต่อกัน และกระทำต่อเรื่องราวต่าง ๆ โจสนใจเรื่องนี้มาก เรื่องนี้ มันอาจเชื่อมโยงกับเรื่อง การรับรู้ในพุทธศาสนาได้ โดยเฉพาะอภิธรรมของฝ่ายมหายาน เขาพูดถึง ตัวแทน และภาพลักษณ์ ตัวแทนหมายถึงการระบุให้สิ่งต่าง ๆ เป็นอะไร เช่่น ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ เป็นต้น ภาพลักษณ์คือคุณลักษณะของตัวแทนนั้น ๆ ดังที่เราเคยบอกว่า พวกฝ่ายซ้ายจะมีห้ายอเป็น ผมก็จำไม่ได้หมด เช่น กางเกงยีน สะพายย่าม รองเท้ายาง เป็นต้น ไปเติมกันให้ครบเอาเองนะครับ

สิ่งที่เรียนรู้เพ่ิมเติมจากลวิตร์ (ที่จริงเธอไปอ่านเจอแล้วมาเล่าต่ออีกทีหนึ่ง) ก็คือ มันใช้เวลาสามวินาที สำหรับการจัดประเภทเช่่นนี้ เราจะได้ภาพลักษณ์ตัวแทนออกมาเลย ไม่ว่า เราจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม เราก็จะจัดประเภทคนที่เราพบเจอ ทันทีทันใด อย่างเป็นอัตโนมััติ อย่างที่เราไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวด้วยซ้ำ ผมว่า อันนี้ มันเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการทำงานของสมองที่น่าสนใจยิ่ง หากเราไม่เข้าใจอันนี้ แล้วเราจะห้อยแขวนการตัดสินได้อย่างไร เราบอกว่า ในสุนทรียสนทนา เราต้องห้อยแขวนการตัดสิน เมื่อเรากำลังฟังผู้อื่น แล้วถ้าสามวินาทีของการจัดประเภทนี้ทำงาน ทีนี้ เราจะห้อยแขวนการตัดสินได้ละหรือ?

ผมขอถามเป็นคำถามไว้ก่อน กระบวนการหาความรู้แบบของเรามันต้องเริ่มต้นด้วยคำถาม ใช่ไหม?